การรักษามะเร็งด้วยคลื่นความถี่สูง Radiofrequency Ablation (RF)

มะเร็งตับและมะเร็งปอดยังคงเป็นมหันตภัยสำหรับชีวิตคนไทยในปัจจุบัน หากรวมถึงมะเร็งจากอวัยวะอื่น ๆ ที่แพร่กระจายมาที่ตับหรือปอดแล้วยิ่งทำให้โอกาสในการได้รับการรักษาของผู้ป่วยน้อยลงไปทุกที แม้การผ่าตัดจะเป็นวิธีมาตรฐานในการรักษา แต่กลับมีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ อาทิ การลุกลามของโรคที่รุนแรง รวดเร็ว หรือสภาพร่างกายผู้ป่วยมะเร็งเองที่มักไม่พร้อมต่อการผ่าตัดใหญ่ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการพัฒนาการรักษาอื่นๆ โดยไม่ต้องผ่าตัด หนึ่งในวิธีนั้นคือ “การรักษามะเร็งด้วยคลื่นความถี่สูง Radiofrequency Ablation หรือ RF”

การรักษามะเร็งด้วยคลื่นความถี่สูง (RF) คืออะไร?

RF คือ การใช้เข็มสอดผ่านผิวหนังเข้าไปทำลายก้อนมะเร็งภายในตับหรือ มะเร็งปอดด้วยคลื่น RF โดยอาศัยอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในการช่วยบอกตำแหน่งของก้อน โดยเข็มดังกล่าวจะปล่อยคลื่น RF (Radio Frequency Wave) ซึ่งเป็นคลื่นพลังงานที่สามารถทำให้เกิด ความร้อนภายในตัวก้อนเนื้อโดยจะได้รับอุณหภูมิสูงเกือบ 100 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 20-40 นาที ผ่านปลายเข็มและกระจายออกไปทำลายเซลล์มะเร็งอย่างถาวรโดยมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับการผ่าตัด เอาก้อนมะเร็งออกได้ ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัด ใช้เวลาในการรักษาสั้น ๆ พักฟื้นในโรงพยาบาล 1-2 วัน เท่านั้น สามารถกลับไปทำกิจกรรมหรือทำงานได้ตามปกติในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการตรวจรักษาของการทำ RF

ข้อดีของการรักษาด้วยวิธี RF นี้ คือไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาสลบ ใช้เวลาในการรักษาสั้นๆ และพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1-2 วันเท่านั้น ภายหลังการรักษาผู้ป่วยจะมีเพียงแผลขนาดเล็กๆ บริเวณหน้าท้องจำนวน 1 แผล ซึ่งจะค่อยๆ หายไปได้ ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดสามารถกลับไปทำกิจกรรม หรือทำงานได้ตามปกติภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้การทำอาร์เอฟเอนี้ถือเป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยสูง มีผลข้างเคียงต่ำเมื่อเทียบกับการผ่าตัด ส่วนผลการรักษานั้น จะสามารถทำลายมะเร็งตับในอัตราที่ใกล้เคียงกับการผ่าตัด อัตรารอดชีวิตสูงเท่ากับการผ่าตัด

การปฏิบัติตัวก่อน – หลัง

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

  1. งดอาหารและน้ำ ล่วงหน้าประมาณ 4 ชั่วโมง
  2. ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการแนะนำให้มาเตรียมตัวล่วงหน้าที่โรงพยาบาล และอาจได้รับการตรวจเลือดเพื่อค้นหาภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และโปรดแจ้งแพทย์ทุกครั้งหากท่านมีประวัติเลือดออกผิดปกติ หรือกำลังรับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน คูมาคิน หรือรับประทานอาหารเสริม เช่น พริมโรสออยล์
  3. ผู้ป่วยอาจได้รับน้ำเกลือก่อนการตรวจ
  4. การได้รับข้อมูล และคำแนะนำอย่างถูกต้องจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ โดยเมื่อมีข้อซักถามสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จากแพทย์และพยาบาล พร้อมทั้งต้องมีการลงนามเอกสารเพื่อยินยอมให้ทำการตรวจก่อนทุกครั้ง

ขั้นตอนการตรวจ

  1. หลังจากเจ้าหน้าที่ได้นำผู้ป่วยไปยังห้องตรวจ ซึ่งเป็นห้องอัลตราซาวfB หรือ ห้องเอกซเรย์ ชนิด Fluoroscopy หรือห้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้แล้วแต่แพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้เครื่องมือในการนำทางเพื่อสอดเข็มเข้าไปในตำแหน่งที่ต้องการ
  2. ผู้ป่วยจะได้รับการทำความสะอาดและยาฆ่าเชื้อบนผิวหนัง ตรงบริเวณที่จะทำการรักษาด้วยวิธีไร้เชื้อ
  3. แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
  4. จากนั้นแพทย์จะทำการสอดเข็มผ่านผิวหนังเพื่อเข้าไปยังตำแหน่งก้อนเนื้อที่ต้องการ โดยแพทย์สามารถมองเห็นเข็มที่สอดใส่ไปในอวัยวะอย่างชัดเจน ผ่านทางจอภาพซึ่งอาจเป็นอัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้แพทย์มั่นใจได้ว่าตรงตำแหน่งที่ต้องการ
  5. จากนั้นจะให้พลังงานที่เรียกว่า Radiofrequency (RF) ผ่านเข็มเข้าสู่ก้อนเนื้อ ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนภายในตัวก้อนเนื้อโดยจะได้รับ อุณหภูมิสูงเกือบ 100 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 20-40 นาที (ขึ้นกับขนาดและจำนวนของตัวก้อนนั้น) ซึ่งผู้ป่วยอาจจะรู้สึกร้อนบ้างแต่ไม่มากนัก หรือบางครั้งแพทย์อาจจะให้ยานอนหลับและยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดและอาการร้อนได้
  6. หลังจากการตรวจท่านจะมีแผลเล็ก (ซึ่งอาจจะมองไม่เห็น) และปิดทับด้วยผ้าพันแผล และอาจรู้สึกปวดบริเวณแผลเล็กน้อย เท่านั้น

การปฏิบัติตัวภายหลังการตรวจ

ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ตามปกติและเปลี่ยนผ้าพันแผล โดยปิดพลาสเตอร์ปิดแผลขนาดเล็กไว้อีก 1-2 วัน โดยไม่ต้องมีการทำความสะอาดแผลหากมีอาการปวดให้ทานยาแก้ปวด แต่หากแผลมีลักษณะอักเสบหรือบวมให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบเพื่อพิจารณาการรักษาต่อไป

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล