การเจาะตัดชิ้นเนื้อผ่านผิวหนังด้วยเข็มขนาดเล็ก (Percutaneous Needle Biopsy)

แม้ว่าการวินิจฉัยโรคในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีก้าวหน้ามากเพียงใด แต่ในบางครั้งการตรวจด้วยวิธีการเหล่านั้น เช่น การตรวจเลือด การเอกซเรย์ ก็ไม่สามารถให้คำตอบที่เพียงพอต่อการรักษาโรคได้ การนำเนื้อเยื่อเล็กๆ หรือ ของเหลวเพียงบางส่วนจากอวัยวะภายในร่างกายของผู้ป่วยมาทำการวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ หรือวิธีทางพยาธิวิทยาจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการบอกว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไรและแพทย์จะสามารถวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดต่อไปอย่างไร

โชคดีที่ในปัจจุบันเราไม่ต้องทำการผ่าตัดเมื่อนำเนื้อเยื่อภายในร่างกายออกมาอีกแล้ว ทำให้เราหลีกเลี่ยงการดมยาสลบ, การมีแผลผ่าตัด และการนอนในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวัน จากการพัฒนาของเทคโนโลยี 2 ประการ คือ เทคโนโลยีการวินิจฉัย และเทคโนโลยีของเข็มชนิดพิเศษที่ใช้ในการตัดชิ้นเนื้อ ทำให้เราสามารถทำการผ่าตัด ดูดชิ้นเนื้อ ได้อย่างแม่นยำ ปลอดภัย และไม่ต้องผ่าตัด

การเจาะตัดชิ้นเนื้อผ่านผิวหนังด้วยเข็มขนาดเล็ก

การเจาะตัดชิ้นเนื้อผ่านผิวหนังด้วยเข็มขนาดเล็ก (Percutaneous Core Needle Biopsy) เป็นการพัฒนาเทคโนโลยี 2 ประการ คือ

  1. เทคโนโลยีการวินิจฉัย ซึ่งแพทย์จะทำการสอดเข็มผ่านผิวหนัง เพื่อไปยังอวัยวะที่ต้องการโดยแพทย์สามารถมองเห็นเข็มและอวัยวะอย่างชัดเจนผ่านทางจอภาพ ซึ่งอาจเป็นอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทำให้มั่นใจได้ว่าตรงตำแหน่งที่ต้องการ และหลีกเลี่ยงอวัยวะอื่นที่สำคัญ เช่น เส้นเลือด
  2. เทคโนโลยีของเข็มชนิดพิเศษ ซึ่งเข็มที่ใช้ในการเจาะตัดชิ้นเนื้อจะมีขนาดเล็กกว่า 2 mm (เล็กกว่าปลายปากกา) และจะมีระบบพิเศษในการเจาะตัดชิ้นเนื้อเล็กๆ ออกมาเพียงพอต่อการวินิจฉัย

ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยที่แม่นยำ ปลอดภัย ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องดมยาสลบ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (บางอวัยวะอาจต้องสังเกตอาการในโรงพยาบาล 1 คืน) และแผลมีขนาดเล็กหรืออาจมองไม่เห็นแผล

ก่อนการตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็ม มีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างไร

  1. งดอาหารและน้ำ ล่วงหน้าประมาณ 4 ชั่วโมง
  2. ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการแนะนำให้มาเตรียมตัวล่วงหน้าที่โรงพยาบาล และอาจได้รับการตรวจเลือดเพื่อค้นหาภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และโปรดแจ้งแพทย์ทุกครั้งหากท่านมีประวัติเลือดออกผิดปกติ หรือกำลังรับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน คูมาคิน หรือรับประทานอาหารเสริม เช่น พริมโรสออยล์
  3. ผู้ป่วยอาจได้รับน้ำเกลือก่อนการตรวจ
  4. หากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานโปรดแจ้งแพทย์ให้ทราบ
  5. การได้รับข้อมูล และคำแนะนำอย่างถูกต้องจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ โดยเมื่อมีข้อสักถามสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จากแพทย์และพยาบาล พร้อมทั้งต้องมีการลงนามเอกสารเพื่อยินยอมให้ทำการตรวจก่อนทุกครั้ง

ขั้นตอนการตรวจ

  1. หลังจากเจ้าหน้าที่ได้นำผู้ป่วยไปยังห้องตรวจ ซึ่งเป็นห้องอัลตราซาวด์ หรือ ห้องเอกซเรย์ ชนิด fluoroscopy หรือห้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้แล้วแต่แพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้เครื่องมือในการนำทางเพื่อสอดเข็มเข้าไปในอวัยวะที่ต้องการตรวจ
  2. ผู้ป่วยจะได้รับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบนผิวหนัง ตรงบริเวณที่จะทำการตรวจด้วยวิธีไร้เชื้อ
  3. แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
  4. จากนั้นแพทย์จะทำการสอดเข็มผ่านผิวหนังเพื่อเข้าไปยังอวัยวะที่ต้องการโดยแพทย์สามารถมองเห็นเข็มที่สอดใส่ไปในอวัยวะอย่างชัดเจน ผ่านทางจอภาพซึ่งอาจเป็นอัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้แพทย์มั่นใจได้ว่าตรงตำแหน่งที่ต้องการ
  5. เข็มที่ใช้ในการตัดชิ้นเนื้อจะมีขนาดเล็กกว่า 2 มิลลิมตร (เล็กกว่าปลายปากกา) และจะมีระบบพิเศษในการตัดชิ้นเนื้อเล็กๆ ออกมา ซึ่งเพียงพอต่อการวินิจฉัย โดยกล้องจุลทรรศน์ และชิ้นเนื้อเหล่านี้จะถูกแช่ด้วยน้ำยาพิเศษ เพื่อส่งไปยังพยาธิแพทย์ให้เป็นผู้ให้การวินิจฉัยต่อไป
  6. หลังจากการตรวจท่านจะมีแผลเล็ก (ซึ่งอาจจะมองไม่เห็น) และปิดทับด้วยผ่าพันแผล และอาจรู้สึกปวดบริเวณแผลเล็กน้อย เท่านั้น
  7. ในบางกรณีเท่านั้นที่อาจต้องนอนทับรอยแผลเป็นเวลา 1-2 ชม. เพื่อป้องกันการเลือดออก ซึ่งหลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถลุกนั่งได้ตามปกติ และสามารถรับประทานอาหารได้ตามที่ต้องการ อย่างไรก็ตามในกรณีที่ต้องนอนโรงพยาบาลก็เพื่อให้แพทย์และพยาบาลได้สังเกตอาการอีก 1 คืน เมื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

อันตรายหรือภาวะแทรกซ้อน

โดยทั่วไปในการตรวจเพื่อตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มจะมีความปลอดภัยสูง เพราะใช้เพียงเข็มขนาดเล็ก อีกทั้งการมีเครื่องมือทางรังสีวินิจฉัยในการนำทางทำให้หลีกเลี่ยงการมีผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญ โดยเฉพาะหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี โอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาวะแทรกซ้อนเล็กน้อย เช่น รอยช้ำจากก้อนเลือด หรือเลือดออกในปริมาณไม่มากบริเวณแผล ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่ในบางกรณีอาจเกิดขึ้นได้ เช่น การตกเลือดภายในอาจพบได้ไม่เกินร้อยละ 5 – 10 ซึ่งมีน้อยรายมากที่ต้องได้รับการให้เลือดทดแทน กรณีการเกิดชิ้นเนื้อที่ปอดอาจเกิดภาวะลมรั่วในเนื้อเยื่อหุ้มปอดได้ ประมาณร้อยละ 10 ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการและไม่ต้องให้การรักษาใดๆ

จะทราบผลการการตรวจชิ้นเนื้อทันทีหรือไม่

โดยทั่วไปจะใช้เวลาในการตรวจชิ้นเนื้อในกระบวนการทางพยาธิวิทยาประมาณ 2 วัน ซึ่งเรามักจะนัดให้ผู้ป่วยมาฟังผลภายหลังเพื่อวางแผนการรักษาร่วมกันต่อไป และโอกาสในการที่ชิ้นเนื้อที่นำไปตรวจไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัย หรือชิ้นเนื้อที่ตัดได้ไม่ตรงกับบริเวณที่ต้องการมีได้ประมาณร้อยละ 5

การปฏิบัติตัวภายหลังการตัดชิ้นเนื้อ

ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ตามปกติและเปลี่ยนผ้าพันแผล โดยปิดพลาสเตอร์ปิดแผลขนาดเล็กไว้อีก 1-2 วัน โดยไม่ต้องมีการทำความสะอาดแผลหากมีอาการปวดให้ทานยาแก้ปวด แต่หากแผลมีลักษณะอักเสบหรือบวมให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบเพื่อพิจารณาการรักษาต่อไป

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล