คืนการมองเห็นให้คมชัด ด้วยการเปลี่ยนเลนส์ตาเทียม

คืนการมองเห็นให้คมชัด ด้วยการเปลี่ยนเลนส์ตาเทียม

สายตาการมองเห็น ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เมื่อเวลาผ่านไป อายุมากขึ้นตามมา ปัญหาเรื่องดวงตาอาจจะเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสำหรับคนไข้ตัดสินใจแล้วว่าต้องการเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเทียม ไม่ว่าจะเพื่อรักษาภาวะต้อกระจก หรือเพราะว่าไม่ต้องการใส่แว่นตาอีกแล้วหลังจากอายุ 50 ปี วันนี้คุณหมอจะตอบให้หายสงสัยกับเรื่องของเลนส์ตาเทียม ที่คนไข้สอบถามบ่อย ๆ ในห้องตรวจ

เลนส์ตาเทียมหน้าตาเป็นอย่างไร?

เลนส์ตาเทียมรูปร่างและความบางคล้าย ๆ แผ่นพลาสติก มีขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วก้อย เลนส์ตาเทียมมีความทนทานและความยืดหยุ่นสูงมาก สามารถม้วนผ่านแผลผ่าตัดขนาดเพียงแค่ 2-3 มิลลิเมตรได้อย่างง่ายดาย แต่ไม่เหมือนกับคอนแทคเลนส์

เลนส์ตาเทียมหน้าตาเป็นอย่างไร?

เลนส์ตาเทียมใส่เข้าไปแล้วอยู่ได้นานแค่ไหนใส่ไปนานแล้วต้องกลับมาเปลี่ยนอีกหรือเปล่า?

ก่อนอื่นต้องเล่าให้สบายใจกันก่อนว่า เลนส์ตาเทียมนั้นผลิตจากอะคริลิค (Acrylic)  ซึ่งเป็นพลาสติกแบบไม่เสื่อมสลาย เนื้อเลนส์มีความใส เมื่อใส่เข้าไปแล้วอยู่ได้ตลอดอายุไขคนโดยไม่เกิดการขุ่นมัวภายหลัง การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาโดยทั่วไปจะถือเป็นการผ่าตัดครั้งเดียวในชีวิตในลูกตา 1 ดวง (1 คน/ตา 1 ดวง/ผ่าตัด 1 ครั้ง) ดังนั้นเมื่อหมอตัดสินใจผ่าให้คนไข้แล้ว หมอไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการกลับต้องมาผ่าซ้ำหรือใส่ถอดเลนส์เข้าๆ ออกๆ ครับ “สรุปสั้นๆ คือเลนส์ตาเทียมมีอายุการใช้งาน “ตลอดชีพ” ครับ”

เลนส์ตาเทียมใส่เข้าไปแล้วอยู่ได้นานแค่ไหนใส่ไปนานๆแล้วต้องกลับมาเปลี่ยนอีกหรือเปล่า?

ร่างกายมีการแพ้หรือการต้านเลนส์ตาเทียมไหม?

เข้าใจครับว่าหลายคนเคยได้ยินเรื่องการที่ร่างกายเกิดการแพ้หรือการต้านอวัยวะเทียมในการผ่าตัดอื่นๆ กันมาบ้าง แต่สำหรับเลนส์ตาเทียมนั้นมีความแตกต่างจากใส่อวัยวะเทียมที่ส่วนอื่นของร่ายกาย เพราะในดวงตานั้นจะไม่เกิดอาการแพ้หรือการต้านอวัยวะเทียมแต่อย่างใด

เลนส์ตาเทียมหลุดออกมาหรือเลื่อนได้ง่ายไหม? ระยะยาวห้ามอะไรโดนตาเลยหรือเปล่า?

เลนส์เทียม เวลาผ่าตัดใส่ หมอจะใส่เข้าไปแทนที่เลนส์ธรรมชาติซึ่งมีที่อยู่เฉพาะของตัวเอง ที่อยู่ที่ว่านี้จะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ถุงหุ้มเลนส์” ซึ่งเป็นอวัยวะหนึ่งในลูกตา พูดง่ายๆ ก็คือเลนส์เทียมนั้นไม่ได้ลอยเคว้งในตา มันจะอยู่ในที่ของมันซึ่งไม่เลื่อน ไม่หลุดออกมาง่ายๆ การก้ม เงย กระโดด ออกกำลัง ไม่ได้ส่งผลให้เลนส์เทียมหลุดออกมาได้

สรุปง่ายๆ คือ ในเคสปกติ ในระยะยาวความแข็งแรงของดวงตาก็เหมือนกับดวงตาก่อนผ่าตัด อุบัติเหตุอะไรก็ตามที่รุนแรงจนที่ทำให้เลนส์ตาเทียมเลื่อนหลุดจากตำแหน่งเดิมได้ ต่อให้เป็นดวงตาธรรมชาติไม่ได้รับการผ่าตัดโดนเข้าไปก็เสียหายเหมือนกัน

เลนส์ตาเทียมมีกี่แบบ? มันต่างกันอย่างไร?

เลนส์ตาเทียมก็เหมือนอวัยวะเทียมอื่นๆ ที่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าก็จะมีการพัฒนาและมีตัวเลือกต่างๆ มากขึ้น ณ ปัจจุบันที่เขียนอยู่นี้ เลนส์ตาเทียมมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท

  1. เลนส์ตาเทียมชนิดระยะเดียว (คนทั่วไปเรียกว่า “เลนส์ธรรมดา”)
  2. เลนส์ตาเทียมชนิดหลายระยะ
  3. เลนส์ตาเทียมชนิดแก้ไขสายตาเอียง แบบระยะเดียว
  4. เลนส์ตาเทียมชนิดแก้ไขสายตาเดียง แบบหลายระยะ

เนื่องจากเรื่องนี้มีรายละเอียดอยู่มาก หมอจะยกไปไว้ในบทความเฉพาะที่เจาะลึกเรื่องนี้ แต่เรื่องหลักๆ ขอให้เข้าใจไว้ว่า เลนส์จะมีกี่ชนิดหรือกี่ยี่ห้อนั้นไม่สำคัญเท่ากับต้องรู้ว่าเลนส์แต่ละชนิดนั้นจะทำให้มองเห็นตาเปล่าหลังผ่าตัดชัดเจนแค่ไหน อ่านหนังสือเห็นใกล้มองตาเปล่าได้หรือไม่ เพราะจะได้ปรับความคาดหวังให้ถูกและอย่าลืมว่าเมื่อใส่เข้าไปแล้วจะต้องอยู่กับเลนส์และใช้งานไปตลอดชีวิตครับ

ข้อมูลโดย
นพ. กัปตัน วิริยะลัพภะ (หมอกัปตัน)
จักษุแพทย์ผู้ชำนาญ ผู้อำนวยการศูนย์ไบรท์วิว เซ็นเตอร์ รพ กรุงเทพ ภูเก็ต 

นัดหมายปรึกษาแพทย์ได้ที่
ไบรท์วิวเซ็นเตอร์ (BrightView Center) ชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
เปิดทำการ วันอาทิตย์-พฤหัสบดี เวลา 8.30-16.00น.

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล