7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

ปัจจุบันกระแสการออกกำลังกาย และการแข่งวิ่งในระดับต่าง ๆ เป็นที่นิยมมากขึ้น เราจะเห็นว่ามีรายการวิ่งผ่านตาแทบจะทุกสัปดาห์ นอกจากนั้นอายุเฉลี่ยของนักวิ่งก็สูงมากขึ้น ผู้สูงอายุหันมาให้ความสนใจกับสุขภาพมากขึ้น ทำให้เราได้ยินเหตุการณ์ที่นักวิ่งหมดสติหรือจนกระทั่งเสียชีวิตขณะวิ่งมากขึ้น และล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ เกิดเหตุนักวิ่งเสียชีวิตขณะลงแข่งขันถึง 2 ราย  ซึ่งผู้เสียชีวิตท่านหนึ่งอายุ 63 ปี และมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกก่อนหมดสติ ชวนให้สงสัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลันมาก

การเสียชีวิตฉับพลันขณะออกกำลัง ส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจนั่นเอง โดยในผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี มักมีสาเหตุจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดหัวใจตีบแบบเฉียบพลัน ส่วนสาเหตุในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี มักเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ หรือโรคกลุ่มหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต จึงมีคำแนะนำ สำหรับนักวิ่งทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น อันได้แก่

  1. ก่อนลงแข่งขันรายการวิ่ง นักวิ่งทุกช่วงอายุควรได้รับการตรวจสุขภาพกับแพทย์ โดยเฉพาะการแข่งขันวิ่งที่มีระยะทางมากกว่า 10 กิโลเมตรขึ้นไป อย่างน้อยควรได้รับตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการเดินสายพาน (exercise stress test) แบบ maximum test ในกรณีที่แพทย์พบสัญญาณหรือความผิดปกติบางอย่าง หรือมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งการตรวจทั้งสองอย่างนั้น จะช่วยคัดกรองทั้งโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติในนักวิ่งอายุน้อย และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในคนที่มีอายุเกิน 35 ปีอีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ผลการตรวจปกติ อาจจะไม่สามารถการันตีได้ 100 % ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขณะวิ่ง แต่ในกรณีโชคร้ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น บุคคลเหล่านั้นก็มักจะเป็นผู้ที่สภาพหัวใจแข็งแรงพอที่ร้องขอการช่วยเหลือจากทีมแพทย์ที่ดูแลการแข่งขันได้อย่างทันท่วงที และมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมาก
  2. สำหรับผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป นอกจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและการเดินสายพานแล้ว ควรได้รับการตรวจสุขภาพและตรวจเลือด เพื่อค้นหาภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น ระดับไขมัน น้ำตาลในเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  3. ควรเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนวันลงแข่ง โดยต้องมีการฝึกซ้อมเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี นอนหลับพักผ่อนคืนก่อนวันแข่งขันให้เต็มที่ นักกีฬาบางท่านลงแข่งขันมาตลอดเป็นระยะ ๆ แต่ในบางรายการร่างกายอาจไม่พร้อม เช่น ช่วงนั้นงานหนัก คืนก่อนการแข่งขันไม่ได้พักผ่อน ก็อาจทำให้เกิดเหตุในวันแข่งได้ ซึ่งถ้าหากรายการไหนที่ร่างกายไม่พร้อมก็ควรงดการแข่งไปก่อน
  4. ไม่ฝืนระยะตัวเอง กล่าวคือ เราซ้อมมาระยะทางเท่าไหร่ ชีพจรอยู่ในโซนไหนควรจะลงแข่งตามระยะนั้น และรักษาระดับชีพจรตามที่เราฝึกซ้อมมา บางท่านลงแข่งขันระยะ 20 กิโลเมตร แต่ซ้อมมาแค่ 15 กิโลเมตร หวังว่าเพื่อนจะช่วยลากหรือบรรยากาศจะช่วยพาไป ซึ่งลักษณะแบบนี้อาจทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายและการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้
  5. ดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดช่วงการวิ่ง โดยเฉพาะในวันที่มีอากาศร้อนอบอ้าว เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและภาวะ Heat stroke
  6. เลือกรายการการแข่งขันที่ได้มาตรฐาน มีทีมแพทย์ พยาบาล และรถปฐมพยาบาลที่ได้เตรียมพร้อมไว้เป็นอย่างดี สำคัญที่สุดคือต้องมีเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ หรือ AED หากไม่แน่ใจให้ถามผู้จัดรายการว่าทีมแพทย์และพยาบาลกู้ชีพ มีเครื่อง AED เตรียมพร้อมไว้หรือไม่ สำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจสูง เช่น ผู้ที่มีความดันเลือดสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไม่ควรลงรายการวิ่งที่เส้นทางห่างไกลจากทีมกู้ชีพมาก เช่น การวิ่งสนามเทรล
  7. ควรศึกษาหาข้อมูล เรื่องอาการแสดงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และสังเกตอาการตัวเองขณะวิ่ง ซึ่งหากมีอาการเจ็บแน่นอก ควรหยุดวิ่งและตามทีมพยาบาลทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล