คำแนะนำผู้ป่วย เรื่องการรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง (Bell’s palsy)

ข้อมูลเบื้องต้น

โรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง พบได้ทุกเพศทุกวัย มักเกิดในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนน้อย แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจาการติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะเชื้อเริม นอกจากนี้ยังพบบ่อยใน สตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ทำให้เกิดความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เรียกว่า เส้นประสาทใบหน้า (Facial nerve) ที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้าทำให้ไม่สามารถทำงานได้ชั่วคราว ส่งผลให้กล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีกด้านนั้นเป็นอัมพาต ผู้ป่วยจะมีอาการหลับตาไม่สนิท ปากเบี้ยว มุมปากตก ดื่มน้ำจะมีน้ำไหลออกจากมุมปาก ยักคิ้วไม่ขึ้น และขยับใบหน้าซีกนั้นไม่ได้ โดยมีอาการแสดงดังนี้

อาการของโรค Bell’s palsy

ยักคิ้วไม่ขึ้น
พูดไม่ชัด ผิวปากไม่ได้
หลับตาไม่สนิท
ปวดหูและรู้สึกหูอื้อได้
ตาแห้ง/มีน้ำตาไหลข้างเดียว เนื่องจากระคายเคืองฝุ่นละออง เนื่องจากตาปิดได้ไม่สนิท
มีมุมปากข้างหนึ่งตก ปากเบี้ยวไปข้างหนึ่ง ขณะยิ้มหรือยิงฟัน
มีน้ำไหลมาที่มุมปากขณะกลืนน้ำ
ไม่มีอาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อแขนและขา
บางคนรู้สึกว่าหน้าบวมหรือชาครึ่งซีก และอาจมีอาการลิ้นครึ่งซีกชาและรับรสไม่ได้

การรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยอัมพาตใบหน้า เริ่มจากการประคบอุ่นบริเวณใบหน้าที่มีอาการอ่อนแรง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต จากนั้นใช้การกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อใบหน้าที่อ่อนแรงไม่ให้ลีบเล็กลง และฝึกบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า เพื่อฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อในขณะที่รอการฟื้นตัวของเส้นประสาทในอนาคต การรักษาด้วยการออกกำลังกายดังกล่าวถือเป็นวิธีการที่ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง และเป็นการรักษาที่ผู้ป่วยสามารถช่วยทำได้บ่อย ๆ วันละหลาย ๆ ครั้ง

ทางเลือกอื่นในการรักษา

  • การรักษาด้วยยา

ปัจจุบันพบว่าการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (steroid) ติดต่อกัน 7-10 วัน ช่วยลดการบวมและอักเสบของเส้นประสาททำให้หายเร็วขึ้น ซึ่งหากได้รับการรักษาภายใน 1 สัปดาห์แรกหลังเกิดอาการ มักจะได้รับผลการรักษาที่ค่อนข้างดี การใช้ยากลุ่มนี้ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้นเนื่องจากมีผลข้างเคียงค่อนข้างอันตราย นอกจากนี้อาจมีการจ่ายยาในกลุ่มวิตามินบีรวม หรือยาที่มีฤทธิ์รักษาเส้นประสาทส่วนปลายด้วย และในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถหลับตาได้สนิทหรือเป็นแผลได้ง่ายอาจใช้แผ่นปิดตา หรือสวมแว่นกันฝุ่นละออง และหยอดน้ำตาเทียมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

  • การรักษาโดยการผ่าตัด

ในกรณีที่ผู้ป่วยยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่นานเกิน 9 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะรายที่เป็นผลมาจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ถูกทำลายหรือฝ่อลีบ เช่น ผ่าตัดแก้ไขหนังตาที่ปิดไม่สนิท การต่อและเลี้ยงเส้นประสาทสมองคู่อื่นเพื่อนำมาใช้ทดแทนเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7

ความเสี่ยงและผลข้างเคียง

ผิวหน้าบริเวณที่ประคบอุ่นหรือให้การรักษาด้วยการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าอาจมีรอยแดง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการชาหรือ การรับความรู้สึกบริเวณใบหน้าด้านที่มีพยาธิสภาพบกพร่อง

การปฏิบัติตัวก่อนและหลังการรักษา

ขั้นตอนการรักษาทางกายภาพบำบัด

  • การประคบอุ่นบริเวณใบหน้าซีกที่มีอาการ (Hot compression) เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า เป็นเวลา 20 นาที
  • การกระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าที่มีอาการอ่อนแรงด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical stimulation) เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อมีการหดคลายตัวเป็นการชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ เป็นเวลา 15 นาที
  • การนวดใบหน้า (Facial massage) เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อมีการหดคลายตัวเป็นการชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ
  • การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า (Facial exercise with facilitated technique) เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าที่อ่อนแรง
  • แจกแผ่นพับให้ความรู้และให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้น และการออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยตนเองที่บ้าน

การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า

แนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังหน้ากระจกเพื่อคอยดูการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า และควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อ      หน้าท่าละ 10 ครั้ง ทำซ้ำ 3 รอบ วันละ 3 ช่วงเวลา โดยมีท่าบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยตนเอง ดังนี้

ท่าที่ 1 ฝึกยักคิ้วขึ้น
ท่าที่ 2 ฝึกหลับตาปิดตาให้สนิท
ท่าที่ 3 ฝึกยิ้มไม่ยกมุมปาก
ท่าที่ 4 ฝึกยิ้มยกมุมปากขึ้น (ยิ้มยิงฟัน)
ท่าที่ 5 ฝึกทำปากจู๋
ท่าที่ 6 ฝึกหลับตาพร้อมกับทำปากจู๋

คำแนะนำเพิ่มเติมเมื่อเป็นโรคอัมพาตใบหน้า

  • ใช้น้ำตาเทียมเพื่อป้องกันตาแห้ง 
  • ใช้ที่ครอบตาป้องกันฝุ่นเข้าตาขณะนอนหลับ
  • สวมแว่นตาเวลาออกนอกบ้านเพื่อกันลมและฝุ่นละออง
  • ห้ามขยี้ตาข้างที่ปิดไม่สนิท
  • ทำกายภาพบำบัดโดยการออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าเป็นประจำ

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล