HPV กับ มะเร็งช่องปาก สัมพันธ์กันอย่างไร?

เอชพีวี กับ มะเร็งช่องปาก สัมพันธ์กันอย่างไร?

เอชพีวี หรือ Human Papillomavirus (HPV) คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อที่เยื่อบุผิว และยังก่อให้โรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) นี้สามารถอาศัยอยู่ในเซลล์เยื่อบุผิวหนัง และในเยื่อมูกที่ปกคลุมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น

  • ภายในจมูก ปาก และลำคอ
  • ด้านในของเปลือกตา
  • ด้านในของผิวหนังและท่อปัสสาวะที่องคชาติ
  • ช่องคลอด ปากมดลูก และอวัยวะเพศภายนอก
  • ทวารหนัก

ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีเชื้อเอชพีวี (HPV) มากกว่า 100 สายพันธุ์ และในจำนวนนี้จะมีประมาณ 40 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศได้ โดยจะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low risk type) คือ สายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ เช่น สายพันธุ์ 6 และ 11
  1. กลุ่มสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง (High risk type) คือ สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ เช่น สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 68, 69, 73, 82 โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากถึง 70% เลยทีเดียว

เชื้อเอชพีวี (HPV) สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น ช่องคลอด ทวารหนัก หรือแม้แต่ทางช่องปาก นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้ทางการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง (Skin to skin contact) เช่น

  • มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ แม้ในช่วงที่ผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการก็ตาม
  • ใช้อุปกรณ์เพื่อสนองความต้องการทางเพศร่วมกับผู้ติดเชื้อ
  • สัมผัสผิวหนังหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ติดเชื้อ
  • สำเร็จความใคร่ทางปากหรือออรัลเซ็กส์ (Oral sex) กับผู้ติดเชื้อ

ส่วนมากแล้ว ผู้ชายมักจะเป็นพาหะนำเชื้อมาสู่ผู้หญิงโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งอาการของการติดเชื้ออาจแสดงออกภายหลังจากผ่านไปหลายปีหลังจากติดเชื้อ นี่จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการแพร่เชื้อเอชพีวี (HPV) ไปยังบุคคลอื่นโดยที่ผู้ติดเชื้อและคู่นอนไม่รู้ว่าตนเองหรืออีกฝ่ายมีเชื้อเอชพีวี (HPV) อยู่

มะเร็งช่องปาก (Oral cancer) คือ ก้อนเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นที่อวัยวะในบริเวณช่องปาก ได้แก่ ริมฝีปาก เหงือก ลิ้นไก่ กระพุ้งแก้ม เพดานปากทั้งเพดานอ่อนและเพดานแข็ง ต่อมทอนซิล กระดูกขากรรไกร ส่วนบนของลำคอ และอวัยวะที่พบว่าเป็นมะเร็งได้บ่อย คือ ลิ้น และพื้นปากใต้ลิ้น

จากการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งช่องปาก คือ การสูบบุหรี่หรือยาสูบ และการดื่มแอลกอฮอล์จัด เนื่องจากพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นมะเร็งช่องปากมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ถึง 6 เท่า

ในปัจจุบันยังพบว่าการสำเร็จความใคร่ทางปาก (Oral sex) กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งช่องปาก (Oral cancer) เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ควรต้องระวัง เช่น

  • มีประวัติทางพันธุกรรมเคยมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง
  • มีประวัติการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีหรือเคยโดนรังสี
  • รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนจัดเกินไปอยู่เป็น เนื่องจากความร้อนที่มาจากอาหารจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุในช่องปาก เมื่อเกิดการระคายเคืองต่อเนื่องเป็นประจำจึงอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อในช่องปากเปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด
  • มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก (Oral sex) กับผู้ติดเชื้อเอชพีวี (HPV)
  • มีสุขภาพช่องปากไม่ดี เช่น ฟันผุเรื้อรัง หรือเกิดการระคายเคืองหรือมีแผลในช่องปากเป็นระยะเวลานาน
  • ใส่ฟันปลอมที่หลวม ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรัง และอาจกักสารก่อมะเร็งต่าง ๆ เช่น สารเคมีในบุหรี่ แอลกอฮอล์ ทำให้สัมผัสกับเยื่อบุภายในช่องปากนานขึ้น
  • รับประทานหรือเคี้ยวอาหารที่มีสารก่อมะเร็งเจือปนอยู่ เช่น หมาก พลู ยาเส้น และการใช้ยานัตถุ์
  • รับประทานผักและผลไม้น้อย
  • ใช้ยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ

ข้อมูลข้างต้นได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) กับ มะเร็งช่องปาก” ได้ค่อนข้างชัดเจน หากทุกคนตระหนักถึงความน่ากลัวของโรคร้ายเหล่านี้ก็ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค รวมทั้งหมั่นดูแลสุขภาพตนเองและเอาใจใส่สุขภาพของคนในครอบครัว เพื่อจะได้มีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลโรคภัยและใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุข

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล