
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความเสื่อมของร่างกายในทุก ๆ ด้าน เช่นการเสื่อมถอยทางด้านสายตา สายตาจะยาวสายตามัว จึงต้องการแสงสว่างมากขึ้น การเสื่อมถอยทางการได้ยิน เช่น หูตึง ได้ยินไม่ชัด ไม่สามารถแยกเสียงพูดออกจากเสียงที่รบกวน และความเสื่อมถอยของกระดูก เช่น หลังโค้งงอ และกระดูกพรุน ข้อเข่าเสื่อม รวมทั้งอาจพบอาการหลงลืม หรือสมองเสื่อมได้มากขึ้น
เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุ ปัจจัยด้านความเสื่อมของร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้แต่การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านเพื่อป้องกันอุบัติเหตุสามารถทำได้ การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
หลักในการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ
- ความมั่นคงแข็งแรงของบ้าน ควรดูแลตรวจสอบสภาพทั่วไปของบ้าน หากพบว่ามีส่วนใดที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ควรแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย
- พื้นที่ที่ผู้สูงอายุใช้เป็นประจำควรรวมอยู่ชั้นล่างของบ้าน (กรณีที่เป็นบ้านสองชั้น) เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว และส่วนที่พักผ่อน
- พื้นบ้านควรเป็นพื้นเรียบและไม่ขัดมัน บริเวณรอบบ้านต้องเรียบไม่มีพื้นผิวขรุขระเนื่องจากผู้สูงอายุมีการทรงตัวไม่ดีอาจจะสะดุดหกล้มได้
- เพิ่มแสงสว่างภายในบ้านผู้สูงอายุมักจะมีความเสื่อมของสายตา ทำให้ต้องการแสงสว่างเพิ่มขึ้น ภายในบ้านจึงควรมีแสงสว่างที่เพียงพอ โดยเฉพาะบริเวณห้องนอน ห้องน้ำ ประตู บันได และทางเดิน สวิตซ์ไฟควรอยู่ในตำแหน่งที่เปิด-ปิดได้สะดวก
- อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย จัดวางเป็นระเบียบ อยู่ในระดับ
- มุมพักผ่อน ถ้าบริเวณบ้านมีพื้นที่ว่าง ควรจัดให้มีมุมพักผ่อนสำหรับผู้สูงอายุ เช่น มุมสวนเล็ก ๆ เฉลียงหน้าบ้าน ศาลา หรือสนามหญ้า เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาว่างในการนั่งเล่น เดินออกกำลังกาย รถน้ำต้นไม้ พูดคุยกับเพื่อนบ้าน และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับครอบครัว
- ติดตั้งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรติดไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องน้ำ ห้องส้วม มุมพักผ่อน หรือห้องที่ผู้สูงอายุใช้เป็นประจำ เพราะเวลาเกิดเหตุจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทัน
การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก
- ห้องนอน
- ควรเป็นห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
- เตียงนอนควรจัดวางในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่าย ความสูงของเตียงอยู่ในระดับที่ผู้สูงอายุนั่งแล้วสามารถวางเท้าได้ถึงพื้น ในระดับตั้งฉากกับพื้น
- มีแสงสว่างเพียงพอ สวิตช์ไฟควรเป็นสีสะท้อนแสง เพื่อความสะดวกต่อการมองเห็นเวลากลางคืน และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไป
- สิ่งของที่ไม่จำเป็นไม่ควรนำมาวางในห้องนอน เพราะนอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุเดินสะดุดแล้ว ยังเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละอองได้
- ห้องน้ำ ห้องส้วม
- ห้องน้ำควรมีขนาดกว้างพอที่จะให้ผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น สามารถหมุนตัวกลับได้
- ควรมีราวจับเพื่อช่วยพยุงตัวขณะที่ลุกจากโถส้วม
- พื้นห้องน้ำควรเป็นพื้นที่เรียบเสมอกัน แยกส่วนแห้งและส่วนเปียก ใช้วัสดุที่ไม่ลื่น ไม่มันเงา ทำความสะอาดง่าย มีระดับเสมอกับพื้นภายนอก ถ้าเป็นพื้นต่างระดับควรเป็นทางลาด
- ควรมีที่นั่งอาบน้ำ กรณีที่นั่งอาบน้ำเป็นเก้าอี้ ต้องเป็นเก้าอี้ที่ติดอยู่กับที่เพื่อป้องกันการลื่นไถล
- ช่องประตูควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ประตูควรเป็นบานเลื่อน หรือประตูแบบเปิดออก ที่สำคัญประตูควรเป็นแบบที่สามารถปลดล็อกจากด้านนอกได้ เพื่อให้คนอื่นสามารถเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุล้มในห้องน้ำ ควรมีสัญญาณฉุกเฉินในห้องน้ำสำหรับขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน
- บันได
- ควรติดตั้งราวจับ เพื่อให้สะดวกในการเดินขึ้น-ลง
- ขั้นบันไดแต่ละขั้นควรมีขนาดความสูงเสมอกัน และไม่ชันมากจนเกินไป
- บริเวณบันไดไม่ควรปูพรม หรือมีสิ่งของกีดขวางทางเดิน เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุสะดุดได้ง่าย
- ควรมีแสงสว่างเพียงพอตลอดแนวบันได
อ้างอิง :
สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคตะวันออก. (มปป.) การดูแลและส่งเสริมคุณภาพผู้สูงอายุ สำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ. ระยอง : สถาบัน กศน.ภาคตะวันออก สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2558).การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ. กรุงเทพมหานคร. สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก