โรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบได้บ่อยในเขตร้อนชื้น ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีเลือดออกตามผิวหนังหรืออวัยวะภายใน โรคนี้สามารถคร่าชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ข้อมูลจากรายงานการเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยา พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม ในปี 2566 เป็นจำนวนถึง 102,202 ราย มีผู้เสียชีวิต 98 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุ 5-14 ปี กลุ่มอายุที่พบการเสียชีวิตสูงสุดคือ อายุ 25-34 ปี และมีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ในปี 2566 ภาคใต้ของประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการระบาดของโรคไข้เลือดออก มีอัตราผู้ป่วยสูงสุด โดยมีผู้ป่วยจำนวน 2,654 ราย เสียชีวิต 4ราย สถิตินี้ชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของโรค ตัวอย่างเช่น จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุดคือ จังหวัดสงขลา มีจำนวนผู้ป่วย 1,128 ราย เสียชีวิต 2 ราย จัดเป็นจังหวัดที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุดอยู่ลำดับที่ 5 ของประเทศไทย

โดยข้อมูลการกระจายโรคไข้เลือดออก ภาคใต้ เมื่อจำแนกผู้ป่วยตามช่วงอายุพบว่า ผู้ป่วยช่วงอายุ 10-14 ปี มีจำนวนมากที่สุด รองลงมาอันดับ 2 จะอยู่ที่ช่วงอายุ 5-9 ปี และผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะพบว่าประชากรผู้ชายเป็นโรคไข้เลือดออกมากกว่าผู้หญิง โดยคิดเป็นผู้ชาย 52% ผู้หญิง 48% ของจำนวนประชากรภาคใต้ทั้งหมด

รู้ไว้ก่อนป้องกันได้

ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ

อาการของผู้ป่วยโรคไข้เลือด

  • ไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส
  • ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
  • หน้าแดง
  • มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
  • เลือดกำเดาไหล
  • อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ

การรักษาโรคไข้เลือด

การรักษาโรคไข้เลือดออกขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยทั่วไปจะเน้นการรักษาตามอาการ เช่น เช็ดตัวลดไข้ ให้ยาลดไข้ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด กรณีมีอาการรุนแรง เช่น ซึมลง เลือดออกมาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ตัวอย่างการรักษา

  • กรณีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด และให้กลับบ้านพักฟื้น
  • กรณีอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือ แร่ธาตุ ยา และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

การป้องกัน

การป้องกันที่ดีที่สุดคือ “การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย” เก็บกวาดภาชนะที่มีน้ำขัง เปลี่ยนน้ำในแจกันทุก 7 วัน ปล่อยปลากินยุงในภาชนะที่มีน้ำ ทายากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด นอนในมุ้ง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก และหมั่นติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล