การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal Cancer Screening)

ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีหลายวิธี โดยวิธีที่ง่าย รวดเร็ว และประหยัดที่สุด คือ “การตรวจเลือดที่มองไม่เห็นในอุจจาระ” หรือที่เรียกว่า “Fecal Occult Blood Test” ซึ่งสามารถทำได้โดย การเก็บตัวอย่างของอุจจาระไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หากเป็นผลบวก แสดงว่าอาจมีเลือดปนอยู่ในอุจจาระ ซึ่งควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้ร่วมกับเทคนิคการถ่ายภาพทางรังสีวิทยา เช่น การสวนแป้ง และการถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Visual Colonoscopy) อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจคัดกรองที่เป็นที่ยอมรับที่สุดในปัจจุบัน คือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้นอกจากจะให้ข้อมูลที่มีความแม่นยำที่สุดแล้ว ยังสามารถทำการรักษาในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

กลุ่มประชากรที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ ประชากรที่มีอายุมากกว่า หรือ เท่ากับ 50 ปี มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตลอดจนกลุ่มประชากรที่มีโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดที่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ ทั้งนี้ หากไม่มั่นใจว่าตนเองมีความเสี่ยงมากน้อยอย่างไร สามารถเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อขอรับคำปรึกษา

มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ โดยมะเร็งชนิดนี้ มักเกิดจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก ที่เรียกว่า โพลิป (Polyp) มีขนาดประมาณปลายนิ้วก้อย ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ ติ่งเนื้อดังกล่าวอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี เนื่องจากขนาดที่เล็กของติ่งเนื้อ จึงทำให้ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ยังไม่มีอาการผิดปกติ จึงถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะหากตรวจพบติ่งเนื้อชนิดนี้ และทำการตัดรักษาได้จนหมด ย่อมเท่ากับเป็นการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal Cancer Screening)

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล