บอกลาซึมเศร้าด้วยเทคโนโลยี TMS

TMS คืออะไร

Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) คือ การกระตุ้นสมองชนิดหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นทางเลือกในการรักษาโรคทางสมองหลายชนิด เช่น โรคซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น หลักการคือเครื่องมือจะปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไปเหนี่ยวนำให้สมองบริเวณที่ถูกกระตุ้นมีการฟื้นฟู ปรับระเบียบ ส่งผลให้สมองในส่วนนั้น ๆ มีการทำงานที่ดีขึ้น โดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือปนเปื้อนรังสีใด ๆ

บทบาท TMS ในโรคซึมเศร้า

การรักษาโรคซึมเศร้าด้วย TMS มีการใช้งานต่อเนื่องแพร่หลายทั่วโลกมากกว่า 10 ปี โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติ TMS ในการรักษาโรคซึมเศร้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และกำลังมีบทบาทสำคัญทั่วโลก โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านเศร้า ซึ่งมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ดีขึ้น และอีกส่วนหนึ่งอาการดีขึ้น แต่มีผลข้างเคียงจากยา การรักษาด้วย TMS จึงตอบโจทย์กับผู้ป่วยในกลุ่มนี้ โดยหลังรักษาด้วย TMS ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าที่ดีขึ้น โดยมีผลข้างเคียงน้อยมาก บางรายสามารถลดขนาดหรือหยุดยาต้านเศร้าได้

การรักษาด้วย TMS เป็นอย่างไร

TMS เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่ง ที่จะมีตัวเครื่องหลักต่อสายเข้ากับหัวกระตุ้น โดยตัวเครื่องหลักจะส่งข้อมูลไปที่หัวกระตุ้น ซึ่งจะทำหน้าที่กระตุ้นสมองในส่วนนั้น ๆ ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อสมองหรือปนเปื้อนรังสีใด ๆ แพทย์จะวางหัวกระตุ้นแนบกับหนังศีรษะภายนอก โดยระหว่างกระตุ้นผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนถูกเคาะที่ศีรษะ แต่ไม่เจ็บ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาสลบเหมือนการรักษาในอดีตที่เรียกว่า Shock therapy (ECT) ไม่มีปัญหาเรื่องความจำเสื่อมหลังรักษา โดยการรักษาดังกล่าว ใช้เวลาโดยประมาณ 20-40 นาทีต่อครั้ง 5 วันต่อสัปดาห์ รวมทั้งหมด 20-30 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์

ผลข้างเคียงของการรักษา TMS

การรักษาด้วย TMS เป็นการรักษาที่ปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อย อาจมีปวดศีรษะได้บ้างช่วงที่กระตุ้นหรือหลังกระตุ้นเสร็จ แต่มักไม่รุนแรง ใบหน้าบริเวณใกล้เคียงอาจมีการกระตุก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ผลข้างเคียงที่รุนแรง คือ อาการชัก ซึ่งมักหยุดได้เอง แต่พบได้น้อยมาก (น้อยกว่า 1% )

กล่าวโดยสรุป คือ การรักษาโรคซึมเศร้าด้วย TMS เป็นการรักษาทางเลือกหนึ่ง ที่มีประสิทธิภาพสูง ปลอดภัยผลข้างเคียงน้อย ช่วยลดอาการ และความรุนแรงของตัวโรคได้ดี

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สมองและระบบประสาท โทร. 1719 ต่อ 3750-1

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล