สายตายาวตามวัย (Presbyopia)

สายตายาวตามวัย

“สายตายาวตามวัย” (Presbyopia) นั้นไม่ใช่โรคหรืออาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด เพราะเมื่อเราอายุมากขึ้นประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ก็จะลดลงตามลำดับ และดวงตาก็เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่ออายุใกล้ 40 ปีหรือมากกว่านั้น กล้ามเนื้อตามัดเล็ก ๆ ที่อยู่ล้อมรอบเลนส์ตา (Ciliary Muscles) จะเริ่มเสื่อมสภาพไปตามอายุขัย อีกทั้งเลนส์ตาจะแข็งขึ้นจนส่งผลให้ไม่มีกำลังมากพอจะทำให้เลนส์โป่งออกเป็นเลนส์นูน จึงทำให้สายตาไม่สามารถมองภาพระยะใกล้ (ประมาณ 30 เซนติเมตร) ได้คมชัดอีกต่อไป

อาการและสัญญาณบ่งชี้สายตายาวตามวัย

เมื่อเริ่มมองเห็นระยะใกล้ได้ไม่ชัด หรือจะเห็นชัดก็ต่อเมื่อพยายามเพ่งมองจนรู้สึกตาล้า เช่น

  1. จากที่เคยอ่านหนังสือที่มีตัวหนังสือขนาดเล็กในระยะใกล้ได้ชัดเจนกลับต้องยืดแขนออกไปให้มากที่สุดเพื่อให้สายตาปรับโฟกัสให้มองเห็นได้ชัด
  2. ไม่สามารถร้อยด้ายเข้าในรูเข็มหรือทำได้ก็ต่อเมื่อต้องเพ่งมองจนปวดตา
  3. หากมีสายตาสั้นอยู่เดิมและใส่แว่นสายตาสั้นก็จะต้องถอดแว่นตาออกจึงจะมองใกล้ได้ชัดเจน

การแก้ไขปัญหาและรักษาสายตายาวตามวัย

มีหลายคนเข้าใจผิดว่าการรักษาแก้ไขปัญหาภาวะสายตายาวตามวัยจะยิ่งทำให้สายตาแย่ลง และสามารถนำค่าสายตาสั้นมาหักลบค่าสายตายาวตามวัย เพื่อให้ค่าสายตากลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อเกิดปัญหาแล้วไม่ทำการรักษาจะยิ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตาและการมองเห็น รวมถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะสายตายาวตามวัยก็ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา

การแก้ไขปัญหาและรักษาสายตายาวตามวัยจะมี 3 วิธี ดังนี้

  1. แว่นสายตา
  2. คอนแทคเลนส์
  3. การผ่าตัดแก้ไขสายตา

จากข้อมูลข้างต้นพอจะสรุปได้ว่าภาวะสายตายาวตามวัยนั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของดวงตาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น โดยในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกัน และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีค่าสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาปกติก่อนอายุ 40 ปี หรือแม้แต่ผู้ที่รับประทานวิตามินและอาหารบำรุงสายตาเป็นประจำก็ตาม

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล