แม้มะเร็งเต้านมจะเป็นโรคร้ายอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก แต่อันที่จริงผู้ชายก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน ถึงแม้จะพบน้อยกว่าผู้หญิงมากก็ตาม โดยจากสถิติจะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ที่เป็นเพศชายมีเพียง 0.5 -1 % ต่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพศหญิง 100 คน
เนื่องจากมีผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมน้อยมาก ทำให้การศึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมในผู้ชายมีน้อยหรือเป็นไปด้วยความลำบาก จึงไม่ค่อยมีการกล่าวถึงโรคนี้สักเท่าไหร่ และเป็นเหตุให้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าผู้ชายก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม และส่งผลให้ผู้ชายโดยมากไม่ให้ความสำคัญในการตรวจเต้านมของตน ส่วนในรายที่พบว่าเป็นมะเร็งเต้านมก็มักจะอยู่ในระดับขั้นที่รุนแรงแล้ว ทำให้ยากต่อการรักษาและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง
แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีข้อมูลระบุชัดเจนถึงสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมในเพศชายก็ตาม แต่ก็มีข้อมูลแสดงถึงปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้ผู้ชายเป็นโรคมะเร็งเต้านม รวมถึงข้อมูลของอาการ การรักษา และการป้องกัน ดังนี้
ใครมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย
- มีประวัติทางพันธุกรรม เคยมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม
- อายุที่มากขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชายที่อายุ 60 ปีขึ้นไป
- มีระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) สูงกว่าปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติของดีเอ็นเอ (DNA) มาแต่กำเนิด โดยเฉพาะอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter’s syndrome)
- โรคตับแข็ง เนื่องจากตับเสื่อมสภาพส่งผลให้ไม่สามารถทำลายฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ตามปกติ
- เป็นโรคอ้วนหรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) มีค่าเท่ากับ 30 หรือมากกว่า
- มีประวัติการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีบริเวณหน้าอกหรือเคยโดนรังสี
- ลูกอัณฑะมีขนาดเล็กและเป็นหมันจากการมีตัวอสุจิน้อยเกินไป หรือไม่มีตัวอสุจิเลย
อาการเบื้องต้นของโรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย
- มีก้อนเนื้อแข็งในเต้านม เมื่อบีบแล้วไม่มีอาการเจ็บปวด
- เต้านมหรือหัวนมแดง
- มีของเหลวไหลออกจากหัวนม
- เป็นผื่นหรือแผลเรื้อรังบริเวณหัวนม
- หัวนมยุบบุ๋ม หรือหัวนมบอด
อาการระยะลุกลามของโรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย
- ปวดกระดูก
- อาการบวมของต่อมน้ำเหลืองที่เกิดบริเวณรอบรักแร้
- หายใจหอบถี่
- เหนื่อยกว่าปกติ
- คลื่นไส้
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
การลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมในเพศชาย
โรคมะเร็งเต้านมในเพศชายไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคยังไม่มีข้อมูลระบุชัดเจน แต่สามารถลดภาวะความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ดังนี้
- หมั่นตรวจเต้านมของตนเองเป็นประจำ เนื่องจากการตรวจพบโรคได้เร็วจะเพิ่มโอกาสในการรักษาหายมากขึ้น
- ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจเอกซเรย์เต้านมปีละ 1 ครั้ง
- งดหรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณน้อย
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
วิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย
การรักษามะเร็งเต้านมชายจะไม่แตกต่างจากการรักษามะเร็งเต้านมหญิง โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษา
- การผ่าตัดกำจัดก้อนมะเร็งพร้อมกับตัดเนื้อเยื่อบางส่วนของเต้านมออก
- การฉายรังสีรักษาหรือการฉายแสง
- การให้ยาเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy)
- การใช้ฮอร์โมนบำบัดระยะยาว