ไซนัส (Paranasal Sinuses)

ไซนัส (Paranasal Sinuses)

 

ไซนัส คืออะไร อยู่ที่ไหน ?

ไซนัส (Paranasal Sinuses) เป็นโพรงอากาศบริเวณใบหน้าและฐานของกระโหลกศีรษะที่มีรูเปิด (ostium) ติดต่อกับช่องจมูก ภายในไซนัสมีเยื่อบาง ๆ (mucosa) บุอยู่แบบเดียวกับเยื่อบุในช่องปาก เยื่อบุบาง ๆ นี้ต่อเป็นผืนเดียวกันกับเยื่อบุภายในช่องจมูกและปาก

ไซนัสมีอยู่ 4 ที่ด้วยกันคือ

  1. Maxillary Sinus อยู่ภายในโพรงกระดูกแก้มทั้งสองข้าง เป็นไซนัสที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และก่อให้เกิดปัญหาบ่อยที่สุด
  2. Ethmoid Sinus เป็นโพรงอากาศที่อยู่ในกระดูก ethmoidอยู่ระหว่างส่วนบนของสันจมูกกับหัวตาทั้งสองข้าง ไซนัสนี้มีลักษณะคล้ายรังบวบ แต่ละข้างมีหลายไซนัสด้วยกัน แบ่งออกเป็นไซนัสที่อยู่ด้านหน้าและทางด้านหลังโดยมีรูเปิดเข้าสู่จมูกคนละ ส่วนกัน
  3. Frontal Sinus เป็นโพรงอากาศที่อยู่ในกระดูกหน้าผาก ส่วนใหญ่จะมีสองข้าง ถ้ามีข้างเดียวหรือไม่มีเลยก็ไม่ถือเป็นสิ่งผิดปกติ ในเด็กเล็กไซนัสนี้ยังไม่มีการเจริญเติบโต ขนาดของไซนัสอาจแตกต่างกันมากในแต่ละคน ไซนัสนี้เมื่อมีอาการติดเชื้อเกิดขึ้น อาจทำให้ผิวหนังบริเวณหน้าผากบวมแดงและโป่งพองออกมา หรือทะลุเข้าไปข้างในทำให้เยื่อหุ้มสมองจนถึงสมองอักเสบได้
  4. Sphenoid Sinus อยู่ใต้ฐานกระโหลกศีรษะในกระดูก Sphenoid ไซนัสนี้ปกติมีสองข้าง ขนาดของแต่ละข้างอาจไม่เท่ากัน ถ้าไซนัสนี้ติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้

 

ไซนัสอักเสบ หรือที่ชอบใช้ว่า ‘เป็นไซนัส’ นั้นหมายถึงอะไร ?

ไซนัส อักเสบ หมายถึงโรคหรือภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อบุภายในไซนัสที่เกิดจากการติด เชื้อหรือภูมิแพ้ ทำให้เยื่อบุภายในไซนัสและช่องจมูกบวมและเกิดการอุดตันที่รูเปิดของไซนัส

 

ทำไมถึงเป็นไซนัส ? และไซนัสอักเสบเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

เมื่อเป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ จะทำให้เกิดการบวมของเยื่อบุภายในช่องจมูกและไซนัสรูเปิดที่ติดต่อระหว่างจมูกกับไซนัสตีบตัน ถ้าการบวมของเยื่อภายในช่องจมูกและไซนัสหายสนิทภายใน 7 – 10 วัน ก็ไม่เกิดปัญหาเกี่ยวกับไซนัส แต่ถ้าไม่หายสนิท 0.5 – 10 เปอร์เซ็นต์ก็อาจทำให้เป็นไซนัสอักเสบได้

โรคภูมิแพ้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไซนัสได้ เพราะภูมแพ้ทำให้เยื่อบุภายในช่องจมูกและไซนัสบวม เป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ปัญหาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้นี้นับวันจะเพิ่มมากขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมที่สกปรกและการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

ความผิดปกติภายในช่องจมูก ซึ่งอาจมองเห็นได้จากภายนอกหรือการตรวจภายในช่องจมูก ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้อากาศถ่ายเทภายในช่องจมูกผิดไปจากปกติ ทำให้เกิดการอุดตันของรูเปิดไซนัสและสร้างปัญหาไซนัสอักเสบตามมาได้

ฟันผุ โดยเฉพาะฟันบนซี่ใน ๆ การติดเชื้อที่รากฟันดังกล่าวจะเข้าสู่ไซนัสบริเวณแก้มได้ง่าย เพราะกระดูกที่คั่นระหว่างรากฟันกับไซนัสบางมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูง อายุ มักเป็นที่ไซนัสข้างเดียว น้ำมูก เสมหะ และการหายใจอาจมีกลิ่นเหม็น ไซนัสอักเสบที่มีสาเหตุมาจากฟันผุมักจะเป็นฟันซี่ใดซี่หนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างจากการปวดฟันบนที่มีสาเหตุจากไซนัสอักเสบ เพราะกลุ่มหลังนี้จะทำให้เกิดการปวดฟันบนซี่ใน ๆ หลายซี่ด้วยกันทั้งที่ไม่มีฟันผุ

การติดเชื้อในกระแสโลหิต ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อภายในไซนัสได้ แต่ในปัจจุบันพบได้น้อยมาก

สิ่งแปลกปลอมที่เด็กที่ชอบเอาใส่เข้าไปในช่องจมูก เช่น ยางลบ ลูกปัด เม็ดน้อยหน่า เม็ดละมุด ฯลฯ ทำให้มีอาการคัดจมูกข้างเดียว น้ำมูกเหม็น ถ้าไม่ได้เอาสิ่งแปลกปลอมนี้ออกภายในเวลาอันควร ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดไซนัสอักเสบได้

 

อาการของไซนัสอักเสบ

โดยปกติผู้คนมักเข้าใจว่าถ้าเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังจะต้องมีอาการมึนศีรษะ ปวดบริเวณโหนกแก้ม ใต้ตา รอบ ๆ ตา ขมับ กลางศีรษะ หรือท้ายทอย ร่วมกับคัดจมูกน้ำมูกไหล ทำให้หลงผิดไปว่าตนเองไม่ได้เป็นไซนัสถ้าไม่มีอาการดังกล่าว มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง แต่มีอาการเพียงแค่ ไอเรื้อรัง เสมหะไหลลงคอ เจ็บคอบ่อย บางครั้งไม่มีอาการปวดศีรษะเลยหรือถ้ามีก็แค่มึนศีรษะ ง่วงเหงาหาวนอน และมีน้ำมูกไหลร่วมกับคัดจมูก เป็น ๆ หาย ๆ ได้กลิ่นน้อยลง หายใจมีกลิ่นเหม็น ทำให้ผู้ป่วยหลงนึกไปว่าตนเองเป็นเพียงหวัดเรื้อรังเท่านั้น

ผู้ป่วยไซนัสอักเสบบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการหูตึง ได้ยินน้อยลง หรือมีเสียงก้องในหู

อาการ อื่น ๆ ที่บ่งชี้ไซนัสอักเสบเรื้อรังก็คือ อาการปวดฟัน โดยเฉพาะฟันบนซี่ใน ๆ ที่มักปวดพร้อมกันหลาย ๆ ซี่ทั้งที่ไม่มีฟันผุ ซึ่งต่างจากอาการปวดฟันที่เกิดจากฟันผุที่มักปวดฟันบนซี่ใดซี่หนึ่งเท่านั้น

นอกเหนือจากอาการดังกล่าวข้างต้นถ้าผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ เช่น บวมแดงบริเวณหน้าผาก ตา ตาพร่า เห็นภาพซ้อน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียน ก็อาจเป็นอาการของโรคแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบได้

ส่วนไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันจะมีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ร่วมกับอาการปวดและเจ็บเมื่อกดบริเวณใบหน้าและบริเวณที่ไซนัสตั้งอยู่ หรือปวดที่กลางศีรษะ ท้ายทอย และขมับ ไซนัสอักเสบชนิดนี้ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องจะหายไปภายใน 4 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่หายและมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 12 สัปดาห์ ก็จัดว่าเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง

 

การตรวจผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบ

  1. ดูบริเวณหน้า และส่วนที่ไซนัสตั้งอยู่ อาจบวมแดงและหรือมีอาการเจ็บเมื่อกด
  2. ตรวจจมูกโดยใช้เครื่องถ่างจมูก หรือกล้องส่อง จะพบความผิดปกติในช่องจมูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ใกล้ชิดกับรูเปิดของ ไซนัส และอาจพบว่ามีน้ำมูกคั่งอยู่ในบริเวณดังกล่าว
  3. การตรวจเพิ่มเติมโดยไม่สิ้นเปลืองก็คือ การตรวจส่วนหลังของช่องจมูก (nasopharynx)
  4. การใช้ลำแสงส่องไปบริเวณที่ไซนัสตั้งอยู่ (transillumination) ซึ่งมีประโยชน์เฉพาะไซนัสที่กระดูกแก้มและหน้าผากเท่านั้น
  5. การตรวจพิเศษที่สมควรและต้องทำในผู้ป่วยทุกรายก็คือ การเอ็กซเรย์ไซนัส 2 ท่าด้วยกันในกรณีต้องการประหยัด แต่ถ้าต้องการดูรายละเอียดครบทั้ง 4 ไซนัสก็ต้องเอ็กซเรย์ 4 ท่าและใช้ฟิลม์ 2 แผ่น การเอ็กซเรย์ไซนัสต้องใช้ท่าที่ถูกต้อง ถ้าทำไม่ถูกท่าไปเอ็กซเรย์กระโหลกศีรษะก็จะได้ข้อมูลไม่ชัดเจน
  6. การเพาะเชื้อจากบริเวณใกล้เคียงกับรูเปิดของไซนัสหรือจากหนองที่ได้จากการล้างหรือดูดไซนัส
  7. การตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ จะจำเป็นเฉพาะกรณีที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นก่อนทำผ่าตัดและสำหรับ ผู้ป่วยที่คิดว่ามีโรคแทรกซ้อน ส่วน MRI โดยใช้คลื่นสนามแม่เหล็กนั้นสิ้นเปลืองมากแต่ประโยชน์ไม่คุ้มค่า ในเด็กเล็กถ้าจะทำ MRI ต้องใช้ยาสลบด้วย
  8. Ultrasound ไม่ควรใช้ เพราะไม่มีความแม่นยำและไม่ได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติม

 

คำถามยอดฮิตที่แพทย์ถูกถามอยู่เป็นประจำก็คือ

  • โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังรักษาแล้วจะหายไหม ?
    คำตอบ: รักษาหายได้แน่
  • รักษาแล้วหายสนิทไหม ?
    คำตอบ: ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของผู้ป่วยและการ รักษาของแพทย์ ฉะนั้นจึงมีโอกาสที่ผู้ป่วยหายและไม่กลับมาเป็นไซนัสอีก

 

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรัง

  1. ต้องออกกำลังกายเป็นประจำ อย่าอ้างว่าไม่มีเวลา
  2. ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ
  3. ต้องอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท ไม่มีฝุ่นละออง ไม่มีเกสรดอกไม้ที่แพ้ หลีกเลี่ยงควันพิษและกลิ่นที่ผิดปกติ
  4. อย่าให้ร่างกายต้องปรับเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างรวดเร็วเกินไป เช่น การเข้า ๆ ออก ๆ ห้องปรับอากาศ รถยนต์ที่ตากแดดร้อน ๆ เป็นต้น
  5. หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยไซนัสอักเสบ เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่นในที่นอน ขนแมว พรมในห้องนอน และอื่น ๆ ส่วนเครื่องสำอางค์ อาหารก็มีส่วนทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้
  6. สุรา เบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีแอลกอฮอล ทำให้เยื่อบุช่องจมูกและไซนัสบวมและรูเปิดของไซนัสอุดตัน
  7. ขณะที่มีการติดเชื้อภายในช่องจมูก ไม่สมควรว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือกระโดดน้ำ

 

การรักษาโรคไซนัสอักเสบ

การรักษาโดยใช้ยา

ยาต้านจุลชีพ จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ แบคทีเรีย ส่วนต้นเหตุที่เกิดจากเชื้อราซึ่งพบน้อยมากก็ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา แต่พวกที่มีสาเหตุจากไวรัสไม่จำเป็นต้องใช้ การใช้ยาต้านจุลชีพควรเลือกกลุ่มที่ 1 ที่เป็นยาสามัญใช้กันทั่วไปซึ่งได้มีการใช้ติดต่อกันมานานแล้วและมีผลข้าง เคียงน้อยที่สุด ยาต้านจุลชีพกลุ่มนี้มีราคาไม่สูงเกินไปนัก สามารถรักษาโรคให้หายได้ถ้าใช้อย่างถูกต้องในระยะเวลาที่นานพอสมควร (10 – 14 วัน เป็นอย่างน้อย)

ส่วนยาต้านจุลชีพชนิดใหม่กลุ่มที่ 2 – 3 มีราคาค่อนข้างสูงและผลข้างเคียงระยะยาวยังประเมินไม่ได้ แต่ก็จำเป็นต้องใช้ในกรณีที่เชื้อโรคดื้อยา หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของไซนัสอักเสบรุนแรงมากตั้งแต่แรกก็จำเป็นต้อง เลือกใช้ยากลุ่มนี้ทันทีเลย

ยา ต้านฮิสตามีน ควรใช้กับไซนัสอักเสบที่มีสาเหตุจากภูมิแพ้ แต่ถึงไม่แน่ใจว่าเกิดจากภูมิแพ้ด้วยหรือไม่การใช้ยากลุ่มนี้ก็คงไม่ผิดกติ กา ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่ 2 ไม่อยู่ในสิทธิบัตรยาของบริษัทผู้ผลิตจึงมีราคาไม่แพงและใช้ได้ผลดี ผลข้างเคียงก็น้อย ส่วนยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่ 3 มีราคาแพงมากเพราะยังอยู่ในสิทธิบัตรยาของบริษัทผู้ผลิต ผลการรักษาอาจไม่ดีกว่ายากลุ่มที่ 2 มากนัก แต่ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่ 1 ซึ่งใช้ติดต่อกันมานานหลายสิบปีนั้นมีผลข้างเคียงพอสมควร แม้ราคาจะถูกมากแต่ก็ให้ใช้ด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ ป่วยต้องทำงานที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องยนต์ ขับรถ เพราะยากลุ่มนี้ทำให้ง่วงนอน น้ำมูกเหนียว และอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากฤทธิ์ข้างเคียงของยา

ยาพ่นจมูกที่มีส่วนประกอบของ Corticosteroids ขณะนี้เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ยาพ่นจมูกชนิดนี้ให้ผลช้า มีราคาแพง แต่ยังไม่ค่อยพบผลข้างเคียงแม้จะใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่วนยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของยาที่ทำให้หายคัดจมูก จะมีผลทันทีทำให้หายคัดจมูก แต่ถ้าใช้ติดต่อกันนานเกิน 3 – 7 วัน ก็อาจทำลายเยื่อบุจมูก เยื่อบุจมูกที่ถูกทำลายไปแล้วจะไม่สามารถกลับมาทำหน้าที่อย่างปกติได้อีก

ยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของยาลดน้ำมูก (Decongestant) แพทย์ หู คอ จมูก ส่วนใหญ่ใช้น้อยลงในปัจจุบัน แม้ว่าจะเคยนิยมใช้ติดต่อกันมานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม

ยาลดการอักเสบ การบวม กลุ่ม NSAIDS ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะมีผลข้างเคียงเป็นอันตรายมากกว่าประโยชน์ที่ได้

การใช้น้ำเกลือล้างจมูก น่าจะมีผลดีเฉพาะเยื่อบุภายในช่องจมูกเท่านั้น แต่คงไม่สามารถเข้าไปถึงในไซนัสได้

การรักษาโดยการผ่าตัด

การผ่าตัดที่ไซนัสในปัจจุบัน ที่ทำกันอย่างแพร่หลายคือ Fess หรือ Essการผ่าตัดวิธีนี้นี้ต้องใช้กล้องส่องร่วมกับเครื่องมือนำเข้าราคาแพง หลักการก็คือ ขยายรูเปิดธรรมชาติของไซนัสให้กว้างขึ้น ร่วมกับเอาเนื้อเยื่อและกระดูกที่มีพยาธิสภาพออกมา ก่อนทำผ่าตัดต้องส่งผู้ป่วยไปเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการผ่าตัดเพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น การผ่าตัดวิธีนี้จึงค่อนข้างสิ้นเปลือง

การผ่าตัดที่ไซนัสแบบดั้งเดิม Caldwell Luc, External Ethmoidectomyและ Frontal sinus operation ก็ยังมีผู้ทำอยู่ ส่วนการผ่าตัด Sphenoid sinus ซึ่งอยู่ค่อนข้างลึกถ้าใช้กล้องจะทำได้ละเอียดมากกว่าและมีผลข้างเคียงน้อย

การผ่าตัดภายในช่องจมูก เพื่อแก้สาเหตุที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ เช่น การตัดริดสีดวงจมูก (Polypectomy) การแก้ไขความผิดปกติของแผ่นกั้นช่องจมูก (Septoplasty) การแก้ไขความผิดปกติภายในช่องจมูก (Infracture of Middle turbinate and Outfracture of Inferior turbinate)

การผ่าตัดต่อม Adenoid และต่อม Tonsil ที่อาจเป็นต้นเหตุของไซนัสอักเสบ

 


หมายเหตุ: ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของเรา ได้ที่:

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล