ปัจจุบันประชาชนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงยาได้ง่าย โดยการซื้อยามารักษาตนเองจากร้านขายยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาแผนปัจจุบัน ถึงแม้จะมีข้อดีตรงที่สามารถเข้าถึงยาได้ง่าย แต่ข้อเสียคือ จะรู้ได้อย่างไรว่ายาที่ซื้อมาใช้รักษาได้ถูกโรคถูกอาการ เนื่องจากการวินิฉัยบางโรคควรได้รับการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุความผิดปกติและแนวทางการรักษาโดยให้ยาที่เหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น หากวันหนึ่งเราเกิดมีอาการตาแดง แต่ไม่อยากเสียเวลาไปหาหมอตา เดินไปซื้อยาที่ร้าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราก็จะบอกที่ร้านว่าเรามีอาการตาแดง น้ำตาไหล เจ็บตา ทางร้านยาจัดยามาให้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถตรวจร่างกายได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ายาที่ได้ตรงกับโรคที่เป็น เนื่องจากอาการตาแดง มีสาเหตุได้ตั้งแต่ภูมิแพ้ขึ้นตาธรรมดา ระคายเคืองเล็กน้อย ไปจนถึงโรครุนแรงอย่างตาติดเชื้อ หรือบางทีอาจเป็นโรคม่านตาอักเสบจากภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกออกได้ ถ้าไม่ได้รับการตรวจร่างกาย
วันนี้จะมาบอกให้ฟังว่า ยาหยอดยาแบบไหนปลอดภัยสามารถซื้อได้จากร้านยาทั่วไป และแบบไหนต้องระวังไม่ควรซื้อใช้ด้วยตัวเอง
“ยาหยอดตา” แบบไหนซื้อเองได้แบบไหนต้องระวัง?
- ยาที่สามารถซื้อเองได้เลย: น้ำตาเทียมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นแบบน้ำเหลวหรือเจล สามารถซื้อใช้เองได้ รวมถึงยาล้างตาที่เป็นน้ำสะอาดเอาไว้กรอกผ่านตา ยาแก้แพ้ในกรณีที่มีอาการคันหรือเคืองตา
- ยารักษาโรคเรื้อรัง ที่แพทย์สั่งให้เป็นประจำ เช่น ยาหยอดคุมความดันตารักษาโรคต้อหิน สามารถซื้อเองได้ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของจักษุแพทย์ประจำตัว และมีนัดดูอาการอย่างต่อเนื่อง
- ยาที่หมดก่อนวันนัด เบื้องต้นต้องโทรไปยังโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ให้การรักษา หากแพทย์อนุญาตจึงสามารถเอาตัวอย่างยาไปซื้อเองได้
- ยาที่ไม่ควรซื้อเองเลย คือ ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid)
ยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นยากดภูมิคุ้มกัน เมื่อใช้หยอดตา อาการอักเสบ ระคายเคืองต่าง ๆ มักหายได้อย่างรวดเร็ว เพราะยาจะไปกดอาการไว้ แต่ยาประเภทนี้อันตรายมากเพราะทำให้คนไข้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ความดันภายในตาสูงขึ้น กลายเป็นต้อหิน และหากอาการรุนแรงอาจส่งผลให้ตาบอดได้ โดยบางครั้งอาการที่รุนแรงเกิดจากการใช้กลุ่มสเตียรอยด์หยอดตาติดกันเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แค่ 2-3 อาทิตย์เท่านั้น
ดังนั้นข้อควรระวัง หากจะไปซื้อยาหยอดตามาใช้เอง ควรถามทุกครั้งว่า “มีสเตียรอยด์หรือเปล่า?”
ทั้งนี้ หากซื้อยามาใช้หยอดตาเองภายในระยะเวลา 1-2 วันแล้วไม่ดีขึ้น อาการกลับแย่ลง ให้รีบพบแพทย์พร้อมนำยาที่ซื้อมาด้วย เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยวิธีการรักษาและให้ยาที่ถูกต้องตรงกับโรค
ข้อมูลโดย
นพ. กัปตันวิริยะลัพภะ (หมอกัปตัน)
นัดหมายปรึกษาแพทย์ได้ที่
ไบรท์วิวเซ็นเตอร์ (BrightView Center) ชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
เปิดทำการ วันอาทิตย์-พฤหัสบดี เวลา 8.30-16.00น.