นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้การทำงานของไตเสื่อมลง และอาจร้ายแรงจนถึงเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง และโรคไตระยะสุดท้าย ซึ่งทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

นิ่วมักเริ่มต้นเกิดในไต และต่อมาเลื่อนตำแหน่งไปยังกรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ หากนิ่วมีขนาดเล็กก็จะสามารถหลุดออกเองได้ ในช่วงเวลาที่ผู้ป่วยปัสสาวะ แต่ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่ก็จะไปอุดตันตามตำแหน่งต่างๆ

สาเหตุของโรคนิ่ว

เกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ทางด้านสิ่งแวดล้อม เมแทบอลิซึมพันธุกรรม วิถีการดำเนินชีวิต และอุปนิสัยการกินอาหารของตัวผู้ป่วยเอง

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

อาการของโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

ลักษณะอาการของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะนั้น จะขึ้นอยู่กับขนาดของนิ่ว และตำแหน่งที่นิ่วนั้นอุดอยู่ รวมถึง นิ่วนั้นอุดทางเดินปัสสาวะมากน้อยเพียงใด หากอาการอยู่ในช่วงระยะแรก ร่างกายของเราอาจขับก้อนนิ่วออกมา ได้เองทางปัสสาวะ ซึ่งจะพบตะกอนเหมือนก้อนกรวดเล็กๆ ปนออกมาพร้อมกับปัสสาวะ แต่เมื่อใดก็ตามที่ก้อนนิ่ว มีขนาดใหญ่ขึ้นจะมีการอุดตันที่มากขึ้น ก่อให้เกิดการเสียดสี ส่งผลสู่การบาดเจ็บ มีเลือดออก ทำให้ปัสสาวะมีสีแดงขึ้น จากเลือดหรือบางกรณีมีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ

  • อาการปวด จากนิ่วอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ โดยอาจมีอาการปวดบริเวณบั้นเอว หรือ บริเวณท้องขึ้นอยู่กับตำแหน่งนิ่ว
  • มีปัสสาวะแสบ ขัด และปัสสาวะลำบาก
  • มีปัสสาวะเป็นเลือด พบได้ถึงร้อน 80 – 90 ของผู้ป่วย
  • ปัสสาวะขุ่นเป็นผงคล้ายชอล์ก เนื่องจาก การตกตะกอนของสารที่เป็นส่วนประกอบของนิ่ว
  • การติดเชื้อ การอุดกั้น ของนิ่วทำให้ปัสสาวะคั่งค้าง ในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดการติดเชื้อ มีไข้ หากมีอาการมาก อาจพบปัสสาวะขุ่นมีหนองปน และกลิ่นเหม็น
  • ปัสสาวะไม่ออก กรณีที่เป็นนิ่วบริเวณท่อปัสสาวะ
  • ไม่มีน้ำปัสสาวะ กรณีที่มีภาวะอุดตันของไต อย่างรุนแรงทั้งสองข้าง
  • อาการแทรกซ้อน เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และท้องอืด

ส่วนอาการของนิ่วในไต หรือท่อไต จะลักษณะอาการปวดตรงบริเวณเอวด้านหลังที่เป็นตำแหน่งของไต เวลาที่ก้อนนิ่ว หลุดมาอยู่ในท่อไต ผู้ป่วยจะมีอาการปวดชนิดที่รุนแรงมาก เหงื่อตก และเกิดเป็นพักๆ บางรายปัสสาวะอาจมีเลือดหรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อร่วมด้วย แต่ถ้านิ่วลงมาอุดบริเวณที่ท่อไตต่อกับกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคืองเวลาปัสสาวะ อยากปัสสาวะ แต่ปัสสาวะขัด หากปล่อยให้เป็นนิ่วไปนานๆ โดยมิได้รับการรักษา จะทำให้ไตเกิดการบาดเจ็บเรื้อรัง ส่งผลให้ไตมีรูปร่าง และการทำงานผิดปกติมากยิ่งขึ้น ซึ่งนำไปสู่ภาวะไตวายในที่สุด

การรักษา โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

ปัจจุบันมีการรักษาหลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาโดยอาศัยข้อมูลเรื่องชนิดและขนาดของนิ่ว ตำแหน่งของนิ่ว ความแข็งของนิ่ว ไตบวมมากหรือน้อย การอักเสบของไต พิจารณาแล้ววิเคราะห์เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม ในแต่ละราย บางท่านอาจจะเหมาะสมที่จะรักษาด้วยการสลายนิ่ว แต่บางท่านไม่เหมาะสมที่จะสลายนิ่ว อาจรักษาได้ด้วยวิธีอื่นๆ เริ่มจาก

  1. การรักษาตามอาการ กรณีนิ่วมีขนาดเล็ก กว่า 4 มม. โดยจะแนะนำให้คนไข้ดื่มน้ำมากๆ นิ่วมีโอกาสหลุดได้เองประมาณ 60-80%
  2. การรักษาทางยา นิ่วบางชนิด เช่น นิ่วที่เกิดจากกรดยูริค สามารถรับประทานยาเพื่อให้นิ่วละลายได้
  3. การใช้เครื่องสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก ด้วยเครื่อง Shockwave ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยที่มีนิ่วขนาดไม่เกิด 2 ซม.เหมาะสำหรับนิ่วในไต หรือ ท่อไต
  4. การส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะเพื่อรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ , ท่อไต
  5. การผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดแบบเปิดแผล หรือการผ่าตัดโดยวิธีการส่องกล้องด้วยการเจาะผ่านทางผิวหนัง วิธีการเหมาะสำหรับนิ่วที่มีขนาดใหญ่ เช่น นิ่วในท่อไตที่ติดแน่น นิ่วเขากวางในไต รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบรุนแรง ซึ่งต้องรีบขจัดนิ่วออก ผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมมากแล้ว เป็นต้น

ส่วนการรักษานิ่วโดยใช้วิธีส่องกล้องเข้าไปคีบ ขบ กรอนิ่ว เหมาะสำหรับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และท่อไต โดยแพทย์จะสอดกล้องเข้าไปตามท่อปัสสาวะเพื่อทำการรักษา

แนวทางการป้องกันการเกิดโรคนิ่ว

  1. ดื่มน้ำมากกว่าวันละ 8 แก้ว หรือให้ได้ปริมาตรของปัสสาวะมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน เพื่อลดความอิ่มตัวของสารก่อนิ่วในปัสสาวะ และลดการก่อผลึกนิ่วที่อาจเกิดขึ้นได้ในระบบทางเดินปัสสาวะ
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนและสัดส่วนเหมาะสม โดยเฉพาะอาหารจำพวกผักและผลไม้
  3. ลดอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์ อาหารหวาน เค็มมาก และอาหารที่มีกรดยูริกสูง
  4. เลี่ยงหนังสัตว์ปีก ตับ ไต ปลาซาร์ดีน
  5. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีออกซาเลตสูง ได้แก่ ผักโขม ช็อกโกแลต ชา ถั่ว แอปเปิ้ล หน่อไม้ฝรั่ง บล็อคโคลี่ เบียร์ น้ำอัดลม กาแฟ โกโก้ ไอศครีม สับปะรด วิตามินซี โยเกิร์ต
  6. ผู้ป่วยที่มีนิ่วควรรับประทานอาหารที่มีใยมาก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  7. ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อย 1 ปีครั้ง อย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติ และสงสัยว่ามีนิ่วไต ควรปรึกษาแพทย์ อย่างไรก็ตามผู้ที่เคยเป็นนิ่วแล้วมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นโรคนิ่วอีกครั้งก็มีได้มาก ดังนั้น การเรียนรู้วิธีป้องกัน และดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดโรคนิ่วจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล