ภาวะ “คลอดก่อนกำหนด”

ภาวะ “คลอดก่อนกำหนด”

ภาวะ “คลอดก่อนกำหนด” เป็นอย่างไร

เป็นภาวะที่ทารกคลอดเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ หรือ 259 วัน โดยเริ่มนับจากวันแรกของวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย

ภาวะเสี่ยงที่อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด

  • คุณแม่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดมาก่อนในท้องแรก
  • คุณแม่มีอายุมากกว่า 35 ปี แล้วมีการตั้งครรภ์
  • มีภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง, ครรภ์เป็นพิษ,ภาวะรกเกาะต่ำ และ เบาหวาน ฯลฯ
  • ปากมดลูกบาง ไม่แข็งแรง
  • มีอาการมดลูกแข็งตัว
  • มีอาการถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์จริง
  • ขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่จัด
  • คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด แล้วมดลูกขยายตัวมาก
  • คุณแม่มีความเครียดมากในขณะตั้งครรภ์
  • โพรงมดลูกของคุณแม่มีเนื้อเยื่อผิดปกติ

สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด

  • อาการบวมและความดันโลหิตสูง
  • มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
  • มีอาการน้ำเดิน ก่อนครบกำหนดคลอด
  • รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยกว่าปกติ
  • มีอาการท้องแข็งบ่อย

ภาวะคลอดก่อนกำหนด

ปัญหาสุขภาพที่อาจจะพบในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด

  • ระบบทางเดินหายใจ
  • 1 ภาวะปอดไม่สมบูรณ์ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทันทีหลังคลอด ยิ่งอายุครรภ์น้อยยิ่งเกิดได้มาก ทารกคลอดที่ก่อนกำหนดปอดจะมีสารลดแรงตึงผิวน้อย จึงเกิดภาวะหายใจลำบาก
  • 2 ภาวะหยุดหายใจ ทารกขณะอยู่ในครรภ์ไม่จำเป็นต้องหายใจเองหรือหายใจเองบ้าง แต่เมื่อคลอดออกมาใหม่ ๆ บางครั้งทารกอาจจะนอนนิ่ง ๆ หรือเงียบไปเลย เพราะตอนหลับทารกจะหยุดหายใจ ภาวะนี้เกิดจากศูนย์ควบคุมการหายใจยังไม่สมบูรณ์เต็มที่
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • ภาวะเส้นเลือดหัวใจเกิน โดยปกติขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์ หลอดเลือดนี้จะเป็นทางลัดผ่านของเลือดจากหัวใจห้องขวาล่าง ไปยังหลอดเลือดแดงใหญ่ของร่างกาย ซึ่งไปเลี้ยงร่างกายส่วนล่างของลำตัว เมื่อทารกคลอดออกมาหลอดเลือดนี้จะหดตัวเล็กลงจนปิดไป แต่ในทารกคลอดก่อนกำหนด เส้นเลือดนี้ยังคงเปิดอยู่ จึงมีลักษณะคล้ายการเกิดรูรั่วในหัวใจ และเกิดภาวะหัวใจวายได้
  • ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง เป็นอีกหนึ่งภาวะที่เกิดขึ้นทันทีหลังคลอด โดยเฉพาะในทารกที่น้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม  เนื่องจากเส้นเลือดในสมองของทารกคลอดก่อนกำหนดจะค่อนข้างเปราะบางมาก
  • การติดเชื้อ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายในช่วงขวบปีแรกด้วย เพราะกลไกการป้องกันการติดเชื้อยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งภูมิคุ้มกันในการต่อต้านเชื้อจากแม่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าทารกที่คลอดตามกำหนด คุณแม่จึงต้องระมัดระวังในเรื่องความสะอาดให้มากเป็นพิเศษ
  • ภาวะลำไส้เน่า เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ประมาณ 10% ของทารกทั้งหมดที่เกิดมาตัวเล็ก ยิ่งตัวเล็กมากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสเกิดเยอะมากขึ้น เกิดจากภาวะลำไส้ขาดเลือด บางรายมีลำไส้เน่า ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด
  • น้ำหนักตัวน้อย เด็กคลอดก่อนกำหนดมักมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ และการดูดกลืนไม่ดี จึงต้องดูแลเป็นพิเศษและให้อาหารทางสายยาง รวมถึงการเลี้ยงด้วยนมแม่ เพราะมีสารอาหารที่ช่วยเสริมพัฒนาการของทารกได้
  • การมองเห็น เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของเส้นเลือดจอประสาทตา ทำให้มีความเปราะบางและแตกง่าย ทำให้มีเลือดออกและเกิดแผลเป็นในจอประสาทตา เกิดการดึงรั้งหรือจอประสาทตาหลุด ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในการมองเห็น
  • การได้ยิน ทารกคลอดก่อนกำหนดจะมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินสูงกว่าปกติ ทารกจึงต้องได้รับการตรวจสอบการได้ยินจากแพทย์ก่อนออกจากโรงพยาบาลและควรได้รับการตรวจซ้ำเมื่อมีอายุ 3-6 เดือน
  • ภาวะโลหิตจาง เพราะมีธาตุเหล็กสะสมไว้น้อย ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางโดยธรรมชาติที่รุนแรงและยาวนานกว่าทารกที่คลอดตามกำหนด
  • มีพัฒนาการช้า จะเป็นในช่วง 2 ขวบปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นพัฒนาการจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติทั่วไป
  • เสี่ยงต่อการเสียชีวิต เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ และเกิดอาการแทรกซ้อนตามมา

การดูแลลูกคลอดก่อนกำหนดเมื่อได้กลับบ้าน

  • รักษาความสะอาด เนื่องจากการสร้างภูมิคุ้มกันของเด็กคลอดก่อนกำหนดยังทำงานได้ไม่เต็มที่ โอกาสติดเชื้อจึงง่ายกว่าปกติ จึงควรต้มหรือนึ่งของใช้เพื่อฆ่าเชื้อโรค จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง หมั่นล้างมือก่อนการสัมผัสเด็กทารก
  • ระวังลูกเสียความร้อนในร่างกาย อาบน้ำวันละ 1 ครั้ง เพื่อรักษาพลังงานในตัวลูก เช็ดตัวให้แห้ง และห่มผ้า เพื่อไม่ให้ถูกลม ระวังอย่าให้ลูกตัวเย็น ควรหาเสื้อผ้าที่ทำให้ลูกอบอุ่น และสบายตัว
  • ระวังเรื่องการหายใจของลูก หากมีเสมหะ มีน้ำมูก ทำให้หายใจไม่สะดวก มีเสียงดังครืดคราด หรือหายใจอกบุ๋ม ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพราะการหายใจของลูกน้อยอาจมีปัญหา
  • ส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย เด็กคลอดก่อนกำหนด จะมีพัฒนาการล่าช้าไปบ้าง แต่คุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยได้ด้วยการสัมผัส โอบกอด พูดคุย ร้องเพลง และนวดเบา ๆ ตามแขน ขา เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อย

ภาวะคลอดก่อนกำหนด

ศักยภาพของ NICU รพ.กรุงเทพภูเก็ต

ภาวะคลอดก่อนกำหนดนั้นสามารถป้องกันได้ หากคุณแม่ฝากครรภ์อย่างมีคุณภาพตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เพื่อจะได้ตรวจสุขภาพคุณแม่คุณลูกและดูแลอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของสูติ-นรีแพทย์และกุมารแพทย์ หากพบปัญหาจะได้วางแผนการคลอดและการดูแลรักษาได้โดยเร็ว

การดูแลทารกที่มีภาวะวิกฤตินั้น โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต มีกุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด, ทีมพยาบาลวิชาชีพเฉพาะทาง พร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง และมีการนำอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการดูแลรักษา อาทิ ตู้อบควบคุมอุณหภูมิ, อุปกรณ์ช่วยหายใจ, เครื่องช่วยหายใจความถี่สูง รวมทั้งการให้สารน้ำ สารอาหาร และโภชนาการสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด เพื่อให้ทารกมีสุขภาพที่แข็งแรงโดยเร็ว

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล