โรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบ (pneumonitis) หรือที่เรียกว่า “ปอดบวม” เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส, และเชื้อรา ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อปอด พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ ระดับความรุนแรงและการมีภาวะแทรกซ้อนจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งการติดเชื้ออาจรุนแรงและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไว้ก่อน

การวินิจฉัย

การซักประวัติ สอบถามอาการโดยเฉพาะอาการไอแบบมีเสมหะ มีไข้ และหายใจหอบ ร่วมกับการตรวจร่างกาย เช่น ฟังเสียงปอด และเอกซเรย์ปอด นอกจากนี้ ยังมีการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุ ได้แก่

  • ตรวจนับเม็ดเลือดขาวในเลือด เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่
  • ตรวจวัดออกซิเจนในเลือด เพื่อดูประสิทธิภาพของปอดในการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือด
  • ตรวจและเพาะเชื้อจากเสมหะและเลือด เพื่อหาชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค

ใครบ้างเสี่ยงเป็น ?

โรคปอดอักเสบสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ในกรณีของปอดอักเสบจากการติดเชื้อ มักพบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ ยังพบได้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังนี้ คือ

  • ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU)
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV, ผู้ป่วยโรคเอดส์, ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยมะเร็งระหว่างการให้เคมีบำบัด หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่

การติดต่อ

  • การไอ จาม หรือหายใจรดกัน
  • การสำลัก เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร หรือสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร
  • การแพร่กระจายของเชื้อตามกระแสโลหิต
  • การลุกลามจากการติดเชื้อที่อวัยวะข้างเคียงปอด
  • การทำหัตถการบางอย่างในโรงพยาบาล ที่มีการปนเปื้อนหรือไม่ได้ทำความสะอาด

อาการของโรคปอดอักเสบ

  • มีไข้สูง ตัวร้อน หน้าแดง เหงื่อออก หนาวสั่น
  • ไอมีเสมหะ
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจเร็ว หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
  • อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดตามข้อ
  • ผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม รู้สึกสับสน และไม่มีไข้
  • ในทารกหรือเด็กเล็กอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ บางรายอาจมีอาการชักจากไข้

การรักษาโรคปอดอักเสบ

การรักษาโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นการรักษาการติดเชื้อร่วมกับการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยทางเลือกในการรักษาประกอบด้วย

  • การให้ยาปฏิชีวนะ ในกรณีของการติดเชื้อแบคทีเรีย ปัจจุบันพบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลายอาจทำให้เชื้อบางชนิด เช่น Streptococcus pneumoniae มีการดื้อยาเพิ่มมากขึ้น
  • การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ สำหรับผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส และเชื้ออื่น ๆ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ออกซิเจน และทำกายภาพบำบัดทรวงอก เป็นต้น
  • การรักษาภาวะแทรกซ้อน โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยได้แก่ เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายจากปอดเข้าสู่กระแสเลือดทำให้อวัยวะอื่น ๆ ติดเชื้อไปด้วย บางรายอาจพบฝีในปอด หรือภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด

โรคปอดอักเสบ

ข้อปฏิบัติตัวง่าย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคปอดอักเสบ

  • ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่จะไปทำลายกระบวนการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตามธรรมชาติของปอด
  • ดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เช่น หมั่นล้างมือเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น
  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
  • เมื่อเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรักษาให้หายขาดแต่เนิ่น ๆ
  • สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ไม่ดื่มสุรามากจนมึนเมาเพราะอาจสำลักเอาเชื้อโรคจากปากเข้าปอด

ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ

    1. ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี
    2. ผู้มีอายุตั้งแต่ 2-65 ปี
      • ที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ จากยาเช่น สเตียรอยด์, ยากดภูมิ, ยาต้านมะเร็งบางชนิด, ได้รับการฉายรังสี หรือเป็นจากตัวโรคเองเช่น โรคไตวาย, มะเร็ง, ไม่มีม้ามหรือม้ามไม่ทำงาน, ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูก, ติดเชื้อ HIV
      • มีปัญหาโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอด, โรคหัวใจ เบาหวาน, ตับแข็ง, พิษสุราเรื้อรัง, สภาวะที่มีการรั่วของน้ำไขสันหลัง, ได้รับการปลูกถ่าย cochlear
    3. ผู้มีอายุระหว่าง 19-64 ปี ที่สูบบุหรี่ หรือเป็นโรคหืด

วัคซีนนอกจากจะช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบแล้วยังช่วยลดความรุนแรงของโรค หากพบการติดเชื้อขึ้นในภายหลัง

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล