โรคกระดูกพรุนคืออะไร ?

โรคกระดูกพรุนคืออะไร ?

โรคกระดูกพรุนคืออะไร ?

โรคที่ทำให้มวลกระดูก และคุณภาพในกระดูกลดลงเรื่อย ๆ จนกระดูกเปราะและหักง่าย โรคกระดูกพรุนมักเกิดขึ้นโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว เพราะไม่สามารถรู้สึกได้ว่ากระดูกของตนบางลง โรคกระดูกพรุนจัดเป็นโรคร้ายแรง และมิได้เป็นอาการของความถดถอยของร่างกายเนื่องจากความชราตามปกติ จริงอยู่ที่โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมได้โดยการเฝ้าระวัง และติดตามอาการของโรคอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกแตกหรือหัก

อาการ

โรคกระดูกพรุนส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงจึงเปราะและหักง่าย ซึ่งอาการเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในกระดูกที่มีสภาพปกติ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนอาจไม่พบอาการใด ๆ เลย จนกระทั่งมีกระดูกแตกหรือหักขึ้นมา ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้จึงอาจไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังป่วยด้วยโรคกระดูกพรุนอยู่จนกระทั่งกระดูกแตกหรือหัก หรือตรวจพบความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดกระดูกหักซ้ำอีกครั้ง

โรคกระดูกพรุน

สาเหตุของโรค

สำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ปัจจัยต่าง ๆ ต่อไปนี้ จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดกระดูกแตกหักจากโรคกระดูกพรุน

  • อายุ ความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกแตกหักจากโรคกระดูกพรุน มีอัตราความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ตามวัยที่สูงขึ้น
  • ประวัติของการเกิดกระดูกสะโพกหัก เมื่อกระดูกแตกหรือหักไปแล้วครั้งหนึ่ง ก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่กระดูกจะแตกหรือหักซ้ำอีกครั้ง
  • ความหนาแน่นของมวลในกระดูกต่ำ (BMD) วัดจากค่า T-Score การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (BMD) ทำได้โดยใช้เครื่อง โดยผลการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (BMD) จะแปลผลเป็นค่า T-Score ซึ่งค่านี้จะช่วยให้แพทย์ประเมินความรุนแรงของโรคกระดูกพรุนได้อย่างถูกต้อง โดยค่า BMD ที่ได้จะถูกนำมาเปรียบเทียบกับค่า BMD เฉลี่ยของวัยรุ่น สำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจะมีค่า T-Score -2.5 หรือต่ำกว่า ยิ่งค่า T-Score มีค่าต่ำเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกระดูกแตกหักจากโรคกระดูกพรุนมากขึ้นเท่านั้น

โรคกระดูกพรุน

กระดูกแตกหรือหักเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

อาการของโรคกระดูกพรุนจะยิ่งลุกลามตามวัยที่มากขึ้น จนกระทั่งกระดูกของผู้ป่วยเปราะจนสามารถแตกหรือหักได้ ในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยชินในชีวิตประจำวัน เช่น การเอื้อมไปหยิบขวดนมในตู้เย็นผิดท่า ก็สามารถส่งผลให้กระดูกสันหลังแตกยุบได้ การถือถุงช้อปปิ้งจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่หนักเกิน ก็สามารถส่งผลให้กระดูกสันหลังแตกยุบได้ หรือแค่สะดุดฟุตบาทหกล้มก็สามารถทำให้กระดูกหักได้ ซึ่งอาการกระดูกหักหรือแตกในลักษณะนี้มักจะไม่เกิดขึ้นในกระดูกสภาพปกติ

กระดูกแตกหรือหักที่ใดได้บ้าง ?

กระดูกแตกหรือหักจากโรคกระดูกพรุน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อมือ กระดูกแขน กระดูกข้อเท้า การเกิดกระดูกสันหลังแตกหักในผู้ป่วยบางรายอาจไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่สามารถสังเกตได้จากส่วนสูงลดลงหรือหลังค่อม เมื่อใดที่เกิดอาการกระดูกแตกหักจากโรคกระดูกพรุน โอกาสที่จะเกิดกระดูกหักซ้ำมีสูงมาก

ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนควรใช้ชีวิตอย่างไร ?

นอกเหนือจากการรับประทานยารักษาโรคกระดูกพรุนแล้วผู้ป่วยยังต้องได้รับสารอาหารประเภทแคลเซียมและวิตามินดีเพิ่ม ควบคู่กับการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ไม่ว่าท่านจะอายุเท่าใด ก็สามารถเริ่มปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักได้ตั้งแต่บัดนี้ แต่พึงระลึกไว้เสมอว่าควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มโปรแกรมการออกกำลังกายใหม่ทุกครั้ง

ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนควรใช้ชีวิตอย่างไร ?

ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับ

ช่วงอายุ ปริมาณ
ผู้ชายอายุ 50-70 ปี 800-1,000 มก./วัน
ผู้หญิงอายุ 51 ปีขึ้นไป 1,000 มก./วัน
ผู้ชายอายุ 71 ปีขึ้นไป 1,000 มก./วัน
ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร 1,200 มก./วัน

ปริมาณวิตามินดีที่ควรได้รับ

ช่วงอายุ ปริมาณ
อายุน้อยกว่า 70 ปี 600 หน่วยสากล(IU)/วัน
อายุมากกว่า 70 ปี 800 หน่วยสากล (IU)/วัน

ทั้งนี้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสำหรับปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน และตรวจฉลากอาหารเพื่อดูปริมาณแคลเซียม และวิตามินดีที่ได้รับต่อมื้อ

อาหารบำรุงกระดูก

อาหารอุดมแคลเซียม

  • ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ โยเกิร์ต เนยแข็ง
  • ปลาซาร์ดีน หรือแซลมอนกระป๋อง
  • เต้าหู้
  • ปลาแห้ง กุ้งป่น ปลาป่น
  • ผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักโขม ผักกาดเขียว ใบยอ

อาหารบำรุงกระดูก

อาหารอุดมวิตามินดี

  • ผลิตภัณฑ์นมเสริมวิตามินดี
  • ไข่แดง
  • ปลาไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล