กระดูกพรุน” หรือไม่ ? รู้ได้ด้วย การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก

กระดูกพรุน” หรือไม่ ? รู้ได้ด้วย การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก

ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือภาวะที่มีความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลง จึงส่งผลให้กระดูกขาดความแข็งแรง กระดูกแตกหักได้ง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ถ้ากลไกการสร้างและทำลายกระดูกไม่สมดุลกัน เช่น มีการสร้างกระดูกน้อยเกินไป ขาดแคลเซียม หรือกระดูกเกิดการสลายมากเกิน ก็จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ ดังนั้นเราควรที่จะป้องกันหรือรีบรักษาภาวะกระดูกพรุนตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีกระดูกหักเกิดขึ้น สำหรับวิธีที่นิยมทำกันในปัจจุบัน คือ

การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone Mineral Density-BMD) เป็นการตรวจหาค่าความหนาแน่นของกระดูกตามส่วนต่าง ๆ ด้วยวิธีการเอกซเรย์พลังงานต่ำ โดยใช้เครื่อง DEXA scan (Dual Energy X-Ray Absorption) ใช้ปริมาณรังสีน้อย มีความปลอดภัย และความแม่นยำสูง ช่วยให้ทราบว่าสุขภาพของกระดูกมีความแข็งแรงระดับใด และมีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูกบอกอะไรได้บ้าง?

  • วินิจฉัยโรคกระดูกพรุน 
  • บอกค่าความหนาแน่นมวลกระดูก ซึ่งค่าที่วัดได้จะต้องนำไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยปกติในกลุ่มคน อายุ 30 – 40 ปี ที่มีเชื้อชาติเดียวกันหรือเชื้อชาติที่ใกล้เคียงกัน เป็นจำนวนของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) เรียกว่า T- score (T) ซึ่งใช้เป็นค่าในการวินิจฉัยโรค
    • ค่า T score มากกว่า -1 = ความหนาแน่นกระดูกปกติ (Normal bone)
    • ค่า T score ที่อยู่ต่ำกว่า -1 แต่สูงกว่า -2.5 = กระดูกบาง (Osteopenia)
    • ค่า T score ต่ำกว่า -2.5 = โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

ใครบ้างควรตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก

  • ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า 19
  • ผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย 
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคตับเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรครูมาตอยด์ ภาวะการดูดซึมของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคต่อมไทรอยด์ และโรคต่อมพาราไทรอยด์
  • มีประวัติเคยมีกระดูกสะโพกหัก หรือกระดูกหักที่ตำแหน่งอื่น ๆ จากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง 
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคไทรอยด์ ยารักษามะเร็ง ฯลฯ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?

  • ไม่ต้องมีการเตรียมตัวหรืองดน้ำและอาหาร
  • ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการตรวจ 
    • หากสงสัยว่าตั้งครรภ์
    • กรณีที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น ใส่ข้อสะโพกเทียม หรือใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ 
    • ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการตรวจที่ต้องรับประทานสารทึบรังสี หรือสารกัมมันตรังสี

ข้อมูลโดย
นพ.คณิศร ไชยมณีกร
ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อทั่วไป
ศูนย์กระดูกและข้อ

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล