กินอย่างไร ให้ไตไม่พัง

คนไทย 3 ใน 4 เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต การบริโภคโซเดียมที่เกินความต้องการ ทำให้คนไทยเสียชีวิตถึงปีละกว่า 20,000 คน

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ลดการบริโภคเค็มจะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่เกิดจากการบริโภคโซเดียมเกิน และช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้อีกด้วย

โซเดียม (Na) คือ เกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของเหลวและเกลือแร่ในร่างกาย ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ ตลอดจนการดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็ก

โซเดียม มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่เมื่อได้รับมากเกินไปจะมีโทษต่อร่างกายเช่นเดียวกัน เมื่อโซเดียมในเลือดสูง จะดูดน้ำเข้าสู่หลอดเลือดเพื่อเจือจาง ทำให้แรงดันเลือดสูงขึ้น การรับประทานเค็ม หรือโซเดียมมากเกินความต้องการของร่างกายเป็นประจำ จะส่งผลทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก อัมพาต อัมพฤกษ์

ปริมาณโซเดียมสูงสุดที่ร่างกายสามารถรับได้โดยไม่เกิดอันตรายนั้น ควรได้รับไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน โซเดียม พบได้ในอาหารธรรมชาติประมาณน้อยมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่เราจะได้รับโซเดียมปริมาณมากจากอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป และเครื่องปรุงรสเป็นหลัก

วิธีการลดการบริโภคโซเดียมในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

1. ชิมอาหารก่อนปรุงทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงรสเค็มเพิ่ม เช่น น้ำปลา ซีอิ้วขาว เกลือ ซอสต่าง ๆ
2. เลือกรับประทานอาหารสด หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด
3. ปรุงอาหารด้วยตนเอง ควรลดปริมาณเครื่องปรุงรสในอาหาร เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ้ว น้ำมันหอย ผงชูรส และควรตวงก่อนปรุงรสทุกครั้ง
4. ลดใช้เครื่องปรุงในอาหาร เช่น ผงปรุงรส น้ำปลา เกลือ ซีอิ้ว ซอสปรุงรส เต้าเจี้ยว
5. อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง เลือกอาหารที่มีโซเดียมน้อยที่สุด
6. หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
7. ใช้รสชาติอื่นทดแทน เช่น รสเปรี้ยว และรสเผ็ด
8. ใช้สมุนไพรเป็นเครื่องเทศ แต่งกลิ่นหอมของอาหาร
9. ระวังเกลือที่ซ่อนอยู่ในอาหาร อย่างเช่น ผงฟู ผงปรุงรส ผงชูรส

เปรียบเทียบปริมาณโซเดียมในอาหารสดและอาหารแปรรูป

วิธีการลดการบริโภคโซเดียมในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

ลำดับ อาหารสด ปริมาณโซเดียม (mg.) อาหารแปรรูป ปริมาณโซเดียม (mg.)
1. ปลาอินทรีย์สด 100 กรัม 75 ปลาอินทรีย์เค็ม 100 กรัม 32,000
2. ไข่ต้ม 1 ฟอง 90 ไข่เค็ม 1 ฟอง 480
3. เนื้อหมู 30 กรัม 18.6 หมูยอ 30 กรัม 227
4. ผักกาดสด 100 กรัม 18 ผักกาดดอง 100 กรัม 1,357
5. มะละกอสด  50 กรัม 12 มะละกอเค็ม 50 กรัม 4,460

ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงชนิดต่าง ๆ และอาหารแปรรูป

ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงชนิดต่าง ๆ และอาหารแปรรูป

อาหาร ปริมาณ โซเดียม (มิลลิกรัม)
เกลือป่น 1 ช้อนชา 2,000
ซุปก้อน 1 ก้อน (10 กรัม) 1,760
ผงปรุงรส 1 ช้อนชา 815
ผงชูรส 1 ช้อนชา 500
ผงฟู 1 ช้อนชา 340
น้ำปลา 1 ช้อนชา 500
ซอสเปรี้ยว(จิ๊กโฉ่ว) 1 ช้อนชา 55
กะปิ 1 ช้อนชา 300-400
ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนชา 396
ซอสถั่วเหลือง 1 ช้อนชา 395
ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ 450
ซอสพริก 1 ช้อนโต๊ะ 220
ซอสมะเขือเทศ 1 ช้อนโต๊ะ 140
น้ำจิ้มไก่ 1 ช้อนโต๊ะ 220
น้ำจิ้มข้าวมันไก่ 1 ช้อนโต๊ะ 214
น้ำจิ้มสุกี้ 1 ช้อนโต๊ะ 280
เต้าเจี้ยว 1 ช้อนโต๊ะ 640
น้ำพริกเผา 1 ช้อนโต๊ะ 257
น้ำพริกแมงดา 1 ช้อนโต๊ะ 403
น้ำพริกแกงเขียวหวาน 1 ช้อนโต๊ะ 568
น้ำพริกแกงแพนง 1 ช้อนโต๊ะ 603
น้ำพริกแกงมัสมั่น 1 ช้อนโต๊ะ 687
น้ำพริกแกงส้ม 1 ช้อนโต๊ะ 732
น้ำพริกแกงเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ 681
เต้าหู้ยี้ 1 ก้อน (15 กรัม) 660
ไส้กรอกหมู 2 ชิ้น (30 กรัม) 200
หมูยอ 2 ช้อนโต๊ะ 230
ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ 1 กระป๋อง 820
โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง (35 กรัม) 1,900
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง 1 ซอง (55 กรัม) 1,480
มันฝรั่งทอดกรอบรสโนริสาหร่าย 1 ซองเล็ก (30 กรัม) 130
ปลาสวรรค์ รสบาร์บีคิว 1 ซอง (27 กรัม) 760
แหนมย่าง 1 ไม้ 480
แฮม 3 แผ่น (15กรัม) 410
กุ้งแห้ง 100 กรัม 3,240
หมูแผ่น 30 กรัม 862
ไข่เยี่ยวม้า 1 ฟอง 280

ปริมาณโซเดียมในอาหารจานเดียว

ปริมาณโซเดียมในอาหารจานเดียว

อาหาร ปริมาณ โซเดียม (มิลลิกรัม)
พิซซ่าหน้าทะเล 1 ชิ้น (135.5 กรัม) 767
พิซซ่าหน้าเนื้อสัตว์ 1 ชิ้น (135.5 กรัม) 1,113
แฮมเบอเกอร์หมู 1 ชิ้น (100 กรัม) 402
ไก่ทอดอกสันใน 1 ชิ้น (178 กรัม) 1,205
ไก่ไม่มีกระดูกทอด 6 ชิ้น (81กรัม) 462
เฟรนช์ฟรายด์ 1 จาน (286 กรัม) 888
ครัสซองแฮมชีส 1 ชิ้น (122 กรัม) 580
ขนมปังทาเนย 1 ชิ้น (50 กรัม) 233
โดนัทเคลือบน้ำตาล 1 ชิ้น (60 กรัม) 205
แซนวิซทูน่า 1 ชิ้น (53 กรัม) 260
ขนมปังลูกเกด 1 ชิ้น (50 กรัม) 230
เค้กเนยครีมวนิลา 1 ชิ้น (35 กรัม) 280
ข้าวผัดหมูใส่ไข่ 1 จาน (324 กรัม) 1,257
น้ำพริกกะปิ 1 ช้อนโต๊ะ 275
แกงไตปลา 1 ถ้วย( 100 กรัม) 794
แกงขี้เหล็กปลาย่าง 1 ถ้วย( 100 กรัม) 794
แกงหมูเทโพ 1 ถ้วย( 100 กรัม) 584
แกงคั่วสับปะรดหอย 1 ถ้วย( 100 กรัม) 618
แกงเหลืองหน่อไม้ดองปลา 1 ถ้วย( 100 กรัม) 723
แกงส้มผักรวม 1 ถ้วย( 100 กรัม) 681
ผัดผักกาดดองใส่ไข่ 1 ถ้วย( 100 กรัม) 1,054
ผัดพริกขิงถั่วฝักยาว 1 ถ้วย( 100 กรัม) 636
สุกี้น้ำ 1 จาน( 436 กรัม) 1,560 ไม่รวมน้ำจิ้ม
กระเพาะปลาน้ำแดง 1 จาน( 450 กรัม) 1,450
เส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว 1 จาน( 325 กรัม) 1,242
ข้าวผัดหมูใส่ไข่ 1 จาน (324 กรัม) 1,257
ข้าวราดแกงป่าปลาดุก 1 จาน (360 กรัม) 1,829
ข้าวต้มปลา 1 ถ้วย (344 กรัม) 805
ข้าวหมกไก่ 1 จาน (316 กรัม) 1,018
ข้าวหมูแดง 1 จาน (320 กรัม) 909
บะหมี่น้ำหมูแดง 1 ถ้วย (420 กรัม) 1,777
เส้นเล็กลูกชิ้นเนื้อวัว 1 ถ้วย (470 กรัม) 1,786
ข้าวหน้าเนื้อ 1 จาน (307 กรัม) 1,176

แหล่งที่มา: โครงการรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมในประเทศไทย

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล