ภาวะกรดไหลย้อน Gastroesophageal Reflux Disease (GERD)

ภาวะกรดไหลย้อน Gastroesophageal Reflux Disease (GERD)

ภาวะกรดไหลย้อน คือ ภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหาร ทำให้มีอาการแสบหน้าอก เจ็บหน้าอก ขย้อนหรือสำรอก

สาเหตุ

    • ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร ที่ทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมีความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าในคนปกติ ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัว
    • ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้อาหารที่รับประทานลงช้าหรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ
  • ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น อาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลตจะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง

โรคกรดไหลย้อนนี้ยังพบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงได้แก่

  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น
  • ดื่มแอลกอฮอล์
  • สูบบุหรี่
  • สตรีที่ตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็ง (scleroderma)
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น Theophylline (ทีโอฟิลลีน) เป็นยาในกลุ่มยารักษาโรคหอบหืด

อาการหลักของโรคกรดไหลย้อน

  • อาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ จากนั้นจึงลามขึ้นมาบริเวณหน้าอกและลำคอ ซึ่งอาการจะชัดเจนมากขึ้นหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก
  • อาการเรอมีกลิ่นเปรี้ยว เพราะมีกรดซึ้งเป็นน้ำที่มีรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาที่บริเวณลำคอ

อาการที่ไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นกรดไหลย้อน แต่อาจจะเป็นอาการที่มาจากกรดไหลย้อนได้

  • อาการที่เกี่ยวข้องกับหลอดอาหาร เช่น อาการเจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก
  • อาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอเรื้อรัง หอบหืด
  • อาการทางหูคอจมูก เช่น เสียงแหบ เจ็บคอเรื้อรัง มีน้ำลายอยู่ในคอตลอดเวลา กล่องเสียงอักเสบ ปวดหู หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ

ผู้ป่วยที่มีอาการเตือนหรือสัญญาณอันตราย ดังต่อไปนี้จำเป็นต้องรับการตรวจด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนได้แก่

  • กลืนเจ็บ
  • กลืนลำบาก กลืนอาหารติด
  • อาเจียนบ่อยๆ
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
  • น้ำหนักลด
  • มีไข้

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นกรดไหลย้อน

  • การนอนเตียงที่ยกศีรษะให้สูงขึ้น 15 เซนติเมตรหากมีอาการหลังนอน
  • การนอนในท่าตะแคงซ้าย
  • หลีกเลี่ยงอาหารมันมากๆ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้มีอาการ เช่น กาแฟ ช็อคโกแลต อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เตรื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือน้ำอัดลม อาหารที่มีส่วนประกอบของมะเขือเทศหรือมินต์
  • หลีกเลี่ยงการนอนหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมากๆในหนึ่งมื้อ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นดึก
  • งดสูบบุหรี่
  • ลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางกลุ่ม เช่น anticholinergic,theophylline,tricyclic antidepressant,calcium channel blocker,beta adrenergic agonist,alendronate

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคกรดไหลย้อน

  • หลอดอาหารเป็นแผลเรื้อรังทำให้เกิดการตีบตัน
  • มีเซลล์เยื่อบุผิดหลอดอาหารเปลี่ยนแปลงผิดปกติ(Barret’s esophagus)
  • มะเร็งหลอดอาหาร

การรักษา

  • รับประทานยาลดกรด กลุ่ม H2RA,proton pump inhibitor,potassium competitive acid blocker เป็นเวลา4-8สัปดาห์
  • การผ่าตัด
    • ผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาได้ผลดี แต่ไม่ต้องการรับประทานยาต่อไปอีกและต้องการผ่าตัด
    • ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนต่อการให้ยาหรือมีผลค้างเคียงต่อยาหรือไม่สามารถรับประทานยาสม่ำเสมอได้เป็นระยะเวลานาน
    • ผู้ป่วยที่อายุน้อย
    • ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านเศรษฐานะหากต้องรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล