โรคไขมันในเลือดสูงกับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

Dyslipidemia

โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) คือ โรคที่มีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าค่าที่ถูกกำหนดขึ้น ซึ่งได้มาโดยการเก็บข้อมูลทางสถิติของระดับไขมันในเลือดของประชากรทั่วไป ปกติร่างกายคนเราจะมีไขมันอยู่ 2 ชนิด คือ

  1. คอเลสเตอรอล (Cholesterol) แบ่งเป็น
    • ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL) หรือ ไขมันชนิดไม่ดี เป็นคอเลสเตอรอลที่ไปสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบและแข็ง เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และหลอดเลือดสมองตีบ
    • ชนิดความหนาแน่นสูง (HDL) หรือ ไขมันชนิดดี เป็นคอเลสเตอรอลประเภทหนึ่งเหมือนกัน แต่จะทำหน้าที่กำจัดไขมันชนิดอันตรายออกไปจากกระแสเลือด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
  2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันประเภทหนึ่ง ซึ่งอาจมีการสะสมที่ผนังหลอดเลือดได้เช่นกันเมื่อมีปริมาณสูงมาก ๆ แต่จะมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าไขมันชนิดคอเลสเตอรอล

การวินิจฉัยโรคไขมันในเลือดสูง

ทำได้โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับไขมันในเลือด และเพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำ จะต้องงดอาหารทุกชนิด ยกเว้นน้ำเปล่า ก่อนการเจาะเลือด 8 – 10 ชั่วโมง

ใครที่ควรเริ่มตรวจหาไขมันในหลอดเลือด

  1. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือมากกว่า 35 ปีขึ้นไปสำหรับผู้ที่มีวิถีชีวิตแบบชุมชนเมือง
  2. ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร หรือก่อนอายุ 40 ปี
  3. มีหลักฐานหรือสงสัยว่าโรคหลอดเลือดตีบ ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะใดก็ตาม
  4. มีความเสี่ยงอื่นต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น สูบบุหรี่ โรคความดันเลือดสูง และโรคเบาหวาน
  5. ประวัติพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคหลอดเลือดตีบโดยญาติเพศชายเป็นก่อนอายุ 55 และญาติเพศหญิงก่อนอายุ 65 ปี
  6. ผู้ป่วยโรคอ้วนลงพุง BMI มากกว่า 30
  7. เป็นโรคเรื้อรังบางชนิดที่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ เช่น โรครูมาตอยด์ โรค SLE Psoriasis
  8. ผู้ที่ไตเสื่อม อัตราการกรองของไตน้อยกว่า 60
  9. คนในครอบครัวมีประวัติไขมันสูง

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้มีภาวะไขมันในเลือดสูง

  1. ปรับพฤติกรรมการบริโภค
    • ควรลดอาหาร
      – ประเภทน้ำตาล ขนมหวานทุกชนิด ผลไม้รสหวานจัดและผลไม้แปรรูป รวมถึงน้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ของทอดต่าง ๆ แกงกะทิ อาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ เช่น เนย หรือมาการีน
      – อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และ/หรือคอเลสเตอรอล ได้แก่ เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ สัตว์ที่มีกระดองแข็ง เช่น หอยนางรม ปู ปลาหมึก น้ำมันมะพร้าว กะทิ เป็นต้น
    • ควรรับประทาน
      – ผักให้มากในแต่ละมื้อ โดยเน้นผักใบเขียว
      – อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ อาหารที่ทำจากพืช ถั่วต่าง ๆ และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ปลาชนิดต่าง ๆ
      – เน้นการปรุงประกอบอาหารแบบต้ม อบ นึ่ง ตุ๋น ยำ แทนการใช้น้ำมัน หากจำเป็นต้องใช้น้ำมันควรลดปริมาณให้น้อยลงหรือเลี่ยงการใช้น้ำมันจากพืชเขตร้อน เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ซึ่งจะช่วยลดปริมาณไขมันอิ่มตัวในการบริโภคได้
  2. ปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอด้วยการวิ่ง เดินเร็ว หรือขี่จักรยาน ช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด และเพิ่มระดับของ HDL ได้ดี ควรทำอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง ครั้งละ 20 – 30 นาที
    • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
    • งดสูบบุหรี่
    • ควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน ไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล