ไม่อยากใส่แว่นหลังอายุ 50 ทำอย่างไรได้บ้าง

ไม่อยากใส่แว่นหลังอายุ 50 ทำอย่างไรได้บ้าง

คำที่บอกว่า “ไม่มีคำตอบเดียวกับทุกอย่าง สำหรับทุกคน” นั้นจริงทีเดียวสำหรับกรณีการรักษาค่าสายตา ที่บอกว่าเป็นอย่างนั้นก็เพราะต้องเข้าใจก่อนครับว่าสภาพของดวงตานั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัย โดยเฉพาะในวัยหลัง 40 ปี จะมีสิ่งเพิ่มขึ้นมาคือ “สายตายาวตามอายุ” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มองไกลเห็น ใกล้ไม่เห็น นั่นเอง อาการก็คืออ่านหนังสือตาเปล่าลำบาก ต้องยืดมือออกไปมากขึ้น หรือต้องใส่แว่นอ่านหนังสือเพราะอ่านตาเปล่าไม่ได้ 

สาเหตุที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ “เลนส์แก้วตา” ที่อยู่ในดวงตามีการเสื่อมสภาพ ไม่สามารถปรับโฟกัสให้เข้ากับระยะการมองเห็นที่ต้องการได้ เปรียบง่ายๆ เหมือนกล้องมือถือที่ระบบโฟกัสอัติโนมัติมันไม่ทำงาน ปรับไม่ได้ ถ่ายรูปไกลได้แต่มาถ่ายใกล้ๆ กลับเบลอ ดังนั้นถ้าไม่อยากใส่แว่นหลังอายุ 50 ปี นอกจากจะต้องแก้ไขสายตา สั้น ยาว เอียง ตามปกติแล้ว จะต้องแก้ไขภาวะสายตายาวตามอายุไปด้วย ไม่งั้นก็ต้องใส่แว่นเพื่อมองวัตถุใกล้ๆอยู่ดี

ทางแก้ไขของสายตายาวตามอายุทำอะไรได้บ้าง

แน่นอน คงต้องยอมรับว่าการแก้ไขอาการนี้คงหนีไม่พ้นการผ่าตัด เพียงแต่จะผ่าตัดใหญ่หรือเล็กเท่านั้น มีทางเลือกได้บ้าง มาดูกัน

1. เลสิก (Lasik): โดยทั่วไป การทำเลสิกมักไม่ได้ทำเพื่อรักษาภาวะสายตายาวตามอายุ ดังนั้นสุดท้ายแล้วหากมีภาวะสายตายาวตามอายุ หลังทำเลสิกก็มักจะมองไกลชัดเจน แต่ต้องใส่แว่นอ่านหนังสือสำหรับมองใกล้ๆ กันต่อ หรือบางทีก็ต้องเลือกเสียสละทำเอาข้างนึงไว้มองไกล อีกข้างไว้อ่านใกล้ๆ (แน่นอนว่าข้างที่ทำไว้อ่านหนังสือจะมองไกลไม่ชัด) วิธีนี้มีคนไข้ส่วนหนึ่งปรับตัวไม่ได้ เพราะตา 2 ข้างมันเห็นไม่เท่ากัน ปัจจุบันเลยไม่ค่อยเห็นเป็นที่นิยม

ในบางแห่งอาจจะมีโปรแกรมสำหรับรักษาสายตายาวตามอายุ แต่โดยตัวเทคนิคแล้วมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ที่เป็นอย่างนั้นเพราะพื้นฐานการทำเลสิกเป็นการรักษาที่กระจกตา (ภาษาชาวบ้านมันคือ “ตาดำ”) และไม่ได้ไปทำการรักษาที่ “เลนส์แก้วตาที่เสื่อม” ที่ต้นตอของอาการ ผลการรักษาอยู่ไม่ค่อยนานเพราะเลนส์แก้วตาก็ยังเสื่อมสภาพต่ออยู่ดี และได้ผลดีกับคนไข้บางรายเท่านั้น ก็เพราะอย่างนี้ เราจึงไม่ค่อยเห็นคนที่มีอายุเริ่มเป็นสายตายาวไปทำเลสิกกันสักเท่าไหร่

2. ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา: พูดง่ายๆ คือเป็นการเปลี่ยนเอาเลนส์แก้วตาเทียมมาใส่แทนที่เลนส์ธรรมชาติที่เสื่อมสภาพแก่ไปตามวัย เนื่องจากในปัจจุบันเลนส์แก้วตาเทียมนั้นได้รับการพัฒนาไปมากจนสามารถทำให้มองเห็นตาเปล่าได้หลายระยะ สามารถเห็นได้ตั้งแต่มองไกล้ ไปจนถึงมองไกล การรักษาชนิดนี้ถือว่าตรงประเด็นที่สุดเพราะเป็นการแก้ไขตรงอวัยวะที่เป็นสาเหตุ การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา จะทำการแก้ไขภาวะสายตา สั้น ยาว เอียง ไปพร้อมๆ กันกับภาวะสายตายาวตามอายุ (พูดง่ายๆ คือแก้พร้อมกันหมดในทีเดียว) การผ่าตัดชนิดนี้มีข้อดีหลายอย่างรวมถึงผลการรักษาค่อนข้างถาวรจึงได้รับความนิยมในชาวต่างชาติ

ถ้าถามเรื่องความเสี่ยงสำหรับการเปลี่ยนเลนส์ว่ามีไหม แน่นอนทุกการผ่าตัดมีความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงของการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตานั้นต่ำมาก ไม่ถึงร้อยละ 1 ที่มีปัญหาหลังรับการผ่าตัด ที่ถามกันบ่อยคือ เลนส์แก้วตาเทียม มีเสื่อมสภาพไหม คำตอบคือไม่มี เพราะเลนส์ตาทำจากพลาสติก ไม่เสื่อมสภาพอยู่นานกว่าอายุคน ง่ายๆ คือใส่เข้าไปแล้วอยู่ถาวร ใช้กันไปตลอดชีวิต (อ่านเพิ่มเติมที่บทความ: Link ตอบให้หายสงสัย ประเด็นเรื่องเลนส์แก้วตาเทียม)

สรุปก็คือ สำหรับคนอายุเกิน 50 ปีถ้าไม่อยากใส่แว่นทั้งมองไกลและใกล้ การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาช่วยแก้ไขได้และผลการรักษาค่อนข้างดี และอยู่ได้ยาวนาน ซึ่งสามารถปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ข้อมูลโดย
นพ. กัปตัน วิริยะลัพภะ (หมอกัปตัน)

นัดหมายปรึกษาแพทย์ได้ที่
ไบรท์วิวเซ็นเตอร์ (BrightView Center) ชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
เปิดทำการ วันอาทิตย์-พฤหัสบดี เวลา 8.30-16.00น.

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล