พบได้บ่อยแค่ไหน?
งานวิจัยในประเทศไทยพบเด็กวัยเรียนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณร้อยละ 7.1 ในขณะที่วัยรุ่นป่วยด้วยโรคซึมเศร้าร้อยละ 13.3 พบในวัยรุ่นหญิงมากกว่าวัยรุ่นชาย 2 เท่า
อาการและการสังเกต
ความรู้สึกเศร้าเสียใจเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป แต่ถ้าอาการซึมเศร้าเริ่มรบกวนการใช้ชีวิต การเรียน และ/หรือกิจวัตรประจำวันของเด็ก/วัยรุ่น อาจเป็นโรคซึมเศร้าที่ควรพาไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาการในเด็ก/วัยรุ่นมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กเล็กอาจยังบอกความรู้สึกไม่เก่ง จึงอาจแสดงออกมาเป็นอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีปัญหาการเรียนหรือพฤติกรรม เช่น หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ก้าวร้าว ดื้อต่อต้าน เก็บตัว นอนไม่หลับ ในวัยรุ่นอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย ทำร้ายตัวเอง ติดเกม ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด เป็นต้น ถ้าบุตรหลานของท่านมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และ/หรืออาการข้างต้น สามารถพาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
วิธีรับมือและให้ความช่วยเหลือ
พูดคุยกับเด็ก/วัยรุ่นบ่อย ๆ สังเกตพฤติกรรม สอบถามอาการสารทุกข์สุกดิบ เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเบื้องต้น โดยใช้เหตุผลให้เหมาะสมกับวัย ไม่ใช้อารมณ์ ให้ความเอาใจใส่และความอบอุ่น เปิดโอกาสให้ได้เล่าปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เร่งรัด ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด ขอความร่วมมือจากคุณครูให้ช่วยสังเกตพฤติกรรม เพราะเด็ก/วัยรุ่นใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียน และพูดคุยกับคุณครูเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาที่พบที่บ้านและโรงเรียน เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด พาเด็ก/วัยรุ่นไปออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายช่วยหลั่งฮอร์โมนความสุข การทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก/วัยรุ่น หากิจกรรมใหม่ ๆ บรรยากาศใหม่ ๆ เที่ยวพักผ่อน นอกเหนือจากการเรียน เพื่อให้เด็ก/วัยรุ่นไม่หมกมุ่น/เก็บตัวอยู่คนเดียว และมีความสุขเพิ่มขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพาไปปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อประเมินอาการ/ความรุนแรง เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ในรายที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรง ซึ่งเมื่อได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง เด็ก/วัยรุ่นก็สามารถจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป เพราะโรคนี้รักษาให้หายขาดได้