ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure)

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure)

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure) คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอจนส่งผลให้อวัยวะต่างเกิดการขาดออกซิเจน นอกจากนั้นหัวใจซึ่งทำหน้าที่เหมือนปั๊มน้ำ เพื่อส่งเลือดออกจากห้องหัวใจ เมื่อหัวใจมีความบกพร่องในการสูบฉีดเลือด จะส่งผลให้เกิดมีภาวะคั่งของเลือดหรือน้ำในห้องหัวใจตามมาได้ และเกิดการล้นกลับไปที่ปอด หรือเกิดภาวะที่เรียกว่าน้ำท่วมปอด

อาการแสดงจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้แก่ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หน้ามืด ไตวาย ซึ่งเป็นผลจากอวัยวะสำคัญขาดออกซิเจนเรื้อรัง และอาการเหนื่อยจากภาวะน้ำท่วมปอด นอนราบไม่ได้ หน้าบวม ขาบวม ซึ่งเกิดจากกลไกที่มีน้ำคั่งอยู่ในร่างกาย

โรคหัวใจล้มเหลว แบ่งเป็นสองชนิด ได้แก่

  1. ชนิดหัวใจสูญเสียการบีบตัว
  2. ชนิดหัวใจสูญเสียการคลายตัว

ทั้งสองแบบก่อให้เกิดอาการแสดงดังที่กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น โดยผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นจะมีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 5 ถึง10 ในช่วงปีแรกที่เป็นโรค โดยเฉพาะหัวใจล้มเหลวชนิดที่สูญเสียการบีบตัวจะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมา นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ลง สูญเสียเวลาทำงานเมื่อผู้ป่วยมีอาการกำเริบจนต้องเข้ารับการรักษาในรพ. ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว

โรคหัวใจล้มเหลวเป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุจากโรคอื่นได้หลายชนิด แต่สาเหตุอันดับหนึ่งยังคงเกิดจากผลแทรกซ้อนของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีสาเหตุอื่นอีก เช่น ไข้หวัดหรือเชื้อไวรัสบางชนิด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภท การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือการที่เคยได้รับเคมีบำบัดหรือการฉายแสงมาก่อน เป็นต้น

การวินิจฉัย

สามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายจากแพทย์ ร่วมกับตรวจการทำงานของหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echocardiography) การตรวจเลือดเพื่อหาสารเคมีบางอย่างในร่างกาย (NT-ProBNP) ที่สำคัญมากกว่านั้นคือการตรวจหาโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะนี้ เช่น การฉีดสีสวนหัวใจเพื่อหาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อจะได้ทำการแก้ไขโรคต้นเหตุได้อย่างทันท่วงที

การรักษา

  1. มุ่งเน้นในการแก้ไขโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะนี้ เช่น ถ้าเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยก็ควรได้รับการฉีดสีสวนหัวใจ เพื่อพิจารณาแก้ไขหลอดเลือดโดยเร็วที่สุดเพื่อหยุดยั้งการดำเนินโรค
  2. การรักษาโดยการใช้ยาเพื่อชะลอการดำเนินโรคและฟื้นฟูการทำงานของหัวใจ
  3. ปรับควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายโดยการคุมอาหาร ปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละวัน และการปรับยาขับปัสสาวะอย่างเหมาะสม
  4. การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจเพื่อช่วยในการบีบตัว (Cardiac resynchronize therapy หรือ CRT) ตลอดจนใส่เครื่องกระตุกหัวใจหัวใจ (Implantable cardioverter defibrillator หรือ ICD) ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้

ภาวะหัวใจล้มเหลว แท้จริงแล้วจะมีผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งที่สามารถทำให้การทำงานของหัวใจกลับไปเป็นปกติได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสาเหตุจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในภาวะนี้มาสักระยะหนึ่งแล้วก่อนที่จะมาพบแพทย์ ส่งผลให้มีภาวะหัวใจโตและอ่อนแรงจนไม่สามารถคืนกลับสภาพได้ ดังนั้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีแพทย์และทีมสหสาขาเข้าไปช่วยเหลือดูแลเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้ในโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลชั้นนำในประเทศ จำเป็นต้องมีคลินิกพิเศษ “คลินิกโรคหัวใจล้มเหลว” เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นลดการกำเริบของภาวะน้ำท่วมปอดจนต้องเข้ามานอนโรงพยาบาล ตลอดจนให้สุขศึกษากับผู้ป่วยและญาติให้สามารถดูแลตนเองและกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ใกล้เคียงกับปกติ

หากท่านหรือญาติมีภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจโต ภาวะน้ำท่วมปอดที่เข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ สามารถติดต่อปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ “คลินิกหัวใจเข้มแข็ง” ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล