มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกสำคัญอย่างไร?

เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง พบได้ในสตรีตั้งแต่วัยสาวถึงวัยชรา พบมากในช่วงอายุ 30-50 ปี ในแต่ละปีผู้หญิงทั่วโลกป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นปีละ 466,000 คน เสียชีวิตปีละ 231,000 คน ซึ่งประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง และพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับสองของมะเร็งในสตรี รองจากมะเร็งเต้านม  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยสถิติผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยประมาณ 4,500 รายต่อปี และพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 8,000 คน ต่อปี นั่นคือจะมีสตรีไทยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกวันละ 8-10 ราย

ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก?

ปัจจุบันมีการศึกษายืนยันชัดเจนแล้วว่ามะเร็งปากมดลูก เกิดจากเชื้อ HPV และต้องเป็น HPV ชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งปัจจุบันพบทั้งหมด 15 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 100 สายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 16 และ 18  HPV เป็นเชื้อที่ติดง่าย ติดต่อทางเพศสัมพันธ์และ ทางการสัมผัสจากพาหะที่นำพาเชื้อไปสู่ช่องคลอด ดังนั้น ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทุกคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้

จากสถิติพบว่า

  • คนที่มีเคยเพศสัมพันธ์มาแล้ว มีโอกาสติดเชื้อ HPV ครั้งหนึ่งในชีวิต 80-90% (อาจจะเป็นเชื้อที่ก่อมะเร็งและไม่ก่อมะเร็งก็ได้)
  • ครึ่งหนึ่งของผู้หญิงจะเคยสัมผัสเชื้อ HPV ภายในช่วง 2 ปี หลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
  • ผู้หญิงแต่ละคนอาจจะเคยสัมผัส และเคยหายจากเชื้อ HPV มาแล้วหลายรอบโดยไม่เคยรู้ตัวมาก่อนก็ได้ เพราะการติดเชื้อ HPV จะไม่มีอาการ
  • ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์มีโอกาสพบเชื้อ หรือเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก ถึง 15% จากผู้ที่มาตรวจทั้งหมด

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก ได้แก่

  • สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย (ต่ำกว่า 18 ปี)
  • มีคู่นอนหลายคน
  • มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  • มีโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเอดส์
  • เคยมีความผิดปกติของปากมดลูก จากการตรวจภายใน และทำ Pap smear
  • ได้รับควันบุหรี่ทั้งทางตรงและทางอ้อม

มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้หรือไม่?

แม้เป็นโรคมะเร็งที่พบได้อันดับต้น ๆ และมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง แต่มะเร็งปากลดลูกเป็นมะเร็งในไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการ

  • ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อ HPV สายพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็ง
  • การตรวจภายในและคัดกรองเซลล์ผิดปกติของปากมดลูก
    • อายุ 21 ปีขึ้นไป หรือ 3 ปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ควรเริ่มทำการตรวจ และตรวจทุก ๆ 1-2 ปี
    • อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุกปี หากผลตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี สามารถเว้นระยะห่างออกไปตรวจทุก ๆ 3 ปี ได้
    • อายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่มีผลการตรวจที่ผิดปกติในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา และไม่มีปัจจัยเสี่ยง อาจยกเลิกการตรวจได้
  • การตรวจหาการติดเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงสูง
  • หากตรวจพบเซลล์ผิดปกติก็สามารถตรวจหาระดับความผิดปกติของเยื่อบุผิวปากมดลูกในระยะก่อนเป็นมะเร็งได้
  • แม้ตรวจพบความผิดปกติระยะก่อนเป็นมะเร็งของเยื่อบุผิวปากมดลูกระดับรุนแรงก็ยังรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อน ใช้ค่าใช้จ่ายไม่สูงนักเพื่อตัดโอกาสการพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

ใครบ้างที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV?

เป็นที่แน่ชัดและยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่าการได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16/18 ที่มีความเสี่ยงสูงสุดในการเกิดมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกนั้นมีประสิทธิภาพลดการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้จริงโดยหลักการมีดังนี้

  • ถ้าฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่ยังไม่มีการสัมผัสเชื้อสองตัวนี้ได้ก็จะดีที่สุด
  • สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็ก อายุ 9-10 ขวบ สำหรับเด็ก อายุน้อยกว่า 15 ปี สามารถฉีดวัคซีน แค่ 2 เข็มก็มีภูมิคุ้มกันต่อ 2 สายพันธุ์หลัก ประสิทธิภาพเทียบกับ 3 เข็มในผู้ใหญ่
  • วัคซีนอาจประสิทธิภาพน้อยลงในคนอายุมากกว่า 26 ปีหรือเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน แต่จากงานวิจัยพบว่ายังมีประโยชน์ในภาพรวมของการป้องกันการเกิดรอยโรคขั้นสูงและมะเร็งปากมดลูก

แม้เคยมีความผิดปกติขั้นสูงของเยื่อบุผิวปากมดลูกการฉีดวัคซีนหลังการรักษายังป้องกันการเป็นกลับซ้ำได้ถึง 70%

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล