การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

สุขภาพของผู้หญิง: การตรวจคัดกรองมะเร็งทำได้อย่างไร?

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นส่วนสำคัญของการดูแลสุขภาพตามปกติของผู้หญิง ซึ่งมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา หรือไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เป้าหมายหลักของการตรวจคัดกรอง คือ การระบุรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งเพื่อให้สามารถกำจัดออกได้ หลีกเลี่ยงการลุกลามของมะเร็ง ส่วนเป้าหมายรอง คือ การค้นพบมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นระยะที่มักจะสามารถรักษาให้หายขาดได้

ในปัจจุบัน การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้ 3 วิธี

  1. การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) – เป็นการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกและการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่อาจนำไปสู่มะเร็งปากมดลูก
  2. การตรวจหาไวรัสเอชพีวี (HPV testing) ซึ่งจะตรวจหาการมีไวรัสเอชพีวีชนิดที่มีความเสี่ยงสูงในเซลล์ปากมดลูก
  3. การตรวจหาไวรัสเอชพีวีร่วมกับการตรวจแปปสเมียร์ (HPV/Pap cotesting) – เป็นการตรวจด้วยทั้งสองวิธีในเวลาเดียวกัน จะมีความแม่นยำสูงกว่าวิธีการตรวจ Pap Test อย่างเดียว

ผู้หญิงควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่อใด และควรตรวจคัดกรองบ่อยเพียงใด?

  • ผู้หญิงอายุ 21 ถึง 29 ปี ควรได้รับการตรวจแปปสเมียร์ ทุก 3 ปี
  • ผู้หญิงอายุ 30 ถึง 65 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 3 วิธีนี้
    1. ตรวจหาไวรัสเอชพีวีที่มีความเสี่ยงสูงเพียงอย่างเดียว ทุก 5 ปี
    2. ตรวจแปปสเมียร์ร่วมกับการตรวจหาไวรัสเอชพีวีชนิดที่มีความเสี่ยงสูง ทุก 5 ปี
    3. ตรวจแปปสเมียร์เพียงอย่างเดียว ทุก 3 ปี

ผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงบางประการอาจต้องได้รับการตรวจคัดกรองบ่อยครั้ง หรือต้องตรวจคัดกรองต่อไปเมื่ออายุเกิน 65 ปี ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ได้แก่

  • ติดเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องของมนุษย์ หรือ ไวรัสเอชไอวี (HIV)
  • ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
  • ได้รับการรักษารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือได้รับการรักษามะเร็งปากมดลูก

ไม่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกใน

  • ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 21 ปี ซึ่งยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
  • ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่เคยได้รับการตรวจคัดกรองครั้งก่อน ๆ อย่างเพียงพอ และมีผลการตรวจปกติติดต่อกันอย่างน้อย 3 ครั้ง และผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก
  • ผู้หญิงที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด (การผ่าตัดเอามดลูกและปากมดลูกออก) และไม่มีประวัติรอยโรคขั้นสูงที่ปากมดลูกหรือมะเร็งปากมดลูก

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล