โรคฝีคัณฑสูตร

โรคฝีคัณฑสูตร

โรคฝีคัณฑสูตร (Anal fistula หรือ Fistula-in-ano) คือ โรคติดเชื้อเรื้อรังที่เกิดขึ้นบริเวณทวารหนัก โดยเกิดเป็นทางเชื่อมระหว่างต่อทวารหนักและผิวหนังภายนอก บริเวณแก้มก้นหรือรอบปากทวารหนัก สาเหตุหลักเกิดจากการเป็นฝีที่ทวารหนักมาก่อน พบว่าผู้ป่วยที่มีฝีที่ทวารหนักจะมีโอกาสเกิดโรคฝีคัณฑสูตรได้ประมาณร้อยละ 30-50

ศ.(พิเศษ) ดร. นพ.อัฑฒ์ หิรัณยากาศ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ประจำสถาบันโรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต อธิบายว่า โรคฝีคัณฑสูตร หรือ ฝีที่ก้น เกิดจากการติดเชื้อของต่อมผลิตเมือก (Anal gland) ที่อยู่บริเวณขอบทวารหนักเกิดการอุดตันและอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย อุจาระ และของเสียหมักหมมจนเกิดเป็นฝีหนอง เมื่อหนองมีปริมาณมากขึ้นจะค่อย ๆ เซาะไปตามชั้นกล้ามเนื้อของทวารหนัก จนทะลุมาชั้นของผิวหนังที่อยู่บริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก กระทั่งหนองแตกทะลุออกสู่ภายนอกกลายเป็นทางเชื่อมระหว่างทวารหนักและผิวหนัง ที่เรียกว่า Fistula

สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดเป็น Fistula นอกจากการเป็นฝี ได้แก่

  • เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังชนิด Crohn’s Disease
  • การติดเชื้อโรคบางชนิด เช่น Actinomycosis, Syphillis, ติดเชื้อวัณโรค หรือ Chlamydia
  • เป็นโรคมะเร็งทวารหนัก หรือโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิดบริเวณรอบปากทวารหนัก

อาการของโรคฝีคัณฑสูตร

  • มีอาการบวมและเจ็บปวดบริเวณแก้มก้นด้านใน หรือรอบ ๆ ทวารหนัก
  • มีน้ำเหลืองซึมออกมาจากรูที่ผิวหนังบริเวณทวารหนัก บางครั้งอาจมีเลือดปนหรือเป็นหนอง
  • อาจมีอาการคันรอบ ๆ ทวารหนัก หรือผิวหนังรอบ ๆ ทวารหนัก เกิดการอักเสบ บวมแดง
  • อาการดังกล่าวอาจเป็น ๆ หาย ๆ

เนื่องจากช่องทางเชื่อมต่อ (Fistula) อาจเกิดการอุดตันจนทำให้เป็นฝีหนอง ซึ่งส่งผลให้มีอาการบวมและปวดมากในบริเวณแก้มก้นหรือทวารหนัก ทำให้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย

แนวทางการตรวจวินิจฉัยโรคฝีคัณฑสูตร

สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคฝีคัณฑสูตร แพทย์จะประเมินอาการผู้ป่วยจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น จากนั้นจะอัลตร้าซาวด์ทวารหนักโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Endoanal Ultrasonography) เพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งว่าต่อมที่ติดเชื้ออยู่บริเวณใด ในกรณีเป็นฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อน แพทย์จะพิจารณาการตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging, MRI)

อย่างไรก็ตามหากเป็นฝีคัณฑสูตรแล้วไม่ทำการรักษา อาจส่งผลให้การติดเชื้อลุกลามเข้าไปถึงเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ และลามเข้าไปยังอวัยวะภายในส่วนอื่นได้

วิธีการรักษาโรคฝีคัณฑสูตร

สามารถแบ่งการรักษาได้ดังนี้

  1. การรักษาฝีบริเวณทวารหนัก คือการผ่าฝีเพื่อระบายหนองออก อาจร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดลดไข้ รวมถึงแนะนำวิธีการดูแลความสะอาดบริเวณทวารหนัก ฝีที่ระบายหนองออกแล้วมีโอกาสกลายเป็นฝีคัณฑสูตร ได้ประมาณ 30 – 50%
  2. การรักษาฝีคัณฑสูตร ในผู้ป่วยที่มีอาการข้างต้น เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอนแล้ว การรักษาจะทำโดยการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากแพทย์ ดังนี้
  • LIFT Procedure (Ligation of Intersphincteric Fistula Tract) เป็นวิธีการรักษาแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จะทำการผ่าตัดเข้าไประหว่างชั้นของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักเพื่อคล้องเอาทางเชื่อมต่อ (Fistula) จากนั้นทำการตัดและเย็บซ่อมทางเชื่อมดังกล่าว
  • Fistulotomy ใช้มีดจี้หรือจี้ไฟฟ้าเพื่อเปิดทางเชื่อมต่อ (Fistula) ตลอดแนว แล้วทำความสะอาดแผล จากนั้นจะเปิดแผลไว้ โดยปกติแผลจะหายภายใน 4 – 6 สัปดาห์
  • Seton Ligation วิธีนี้เหมาะสำหรับฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อน (Complex Fistulas) โดยใช้เชือก (Seton) คล้องทางเชื่อมต่อ (Fistula) ไว้แล้วทำให้แน่นเป็นระยะ จนกระทั่งหลุด
  • Fistulectomy คือการตัดเอาส่วนของทางเชื่อมต่อ (Fistula) ออกทั้งหมด

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยฝีคัณฑสูตร มีภาวะฝีบริเวณทวารหนักกำเริบขึ้นมา จำเป็นต้องรักษาฝีดังกล่าวให้หายก่อนโดยวิธีผ่าตัดเพื่อระบายหนองออก เมื่อฝีหายดีแล้วจึงจะสามารถผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรต่อไปได้

ผลข้างเคียงของการรักษา

  1. การรักษาแต่ละวิธีอาจสัมพันธ์กับภาวะการกลั้นอุจจาระไม่ได้มากน้อยต่างกัน แพทย์และผู้ป่วยจำเป็นต้องทำพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโอกาสการเกิดภาวะดังกล่าวก่อนทำการรักษา
  2. ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดรักษาไปแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ  หรือเกิดฝีคัณฑสูตรขึ้นใหม่ได้

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล