การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน(Acute Myocardial Infarction) โดยวิธีสวนหลอดเลือดหัวใจ (Percutaneous Coronary Intervention: PCI)

1. ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
เกิดเนื่องจากมีการตีบตันเฉียบพลันของหลอดเลือดหัวใจนั่นเอง โดยมีกลไกอันเนื่องมาจากไขมันที่เคยสะสมในหลอดเลือดมาช้านาน เกิดมีการปริแตกขึ้น หลังจากนั้นจะไปกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของลิ่มเลือดจนทำให้หลอดเลือดเส้นนั้นเกิดการตีบตันขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจบริเวณที่เคยรับเลือดเกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างทันทีทันใด กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใน เวลาไม่เกินชั่วโมง

2.อาการแสดงเป็นอย่างไร ?
ส่วนใหญ่จะมีอาการ เจ็บแน่นอกเหมือนมีของหนักกดทับ เป็นได้ตั้งแต่บริเวณกลางอกจนถึงลิ้นปี บางครั้งอาการเจ็บอาจร้าวขึ้นกรามและแขนทั้งสองข้างได้ นอกจากนั้นอาการอื่นที่เกิดขึ้นได้ก็เช่น อาการวูบหรือหมดสติ และอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

3.การรักษาทำได้อย่างไร ?
หลักการคือต้องทำการเปิดหลอดเลือดหัวใจที่ตีบให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งช้า กล้ามเนื้อหัวใจยิ่งได้รับความเสียหายหรือเกิดการตายอย่างถาวรได้ โดยวิธีการในปัจจุบันแบ่งออกเป็นสองวิธี คือ 1. การให้ยาสลายลิ่มเลือด ( Fibrinolytic) และ 2. การฉีดสีสวนหัวใจ (PCI) การรักษาโดยวิธีการสวนหัวใจนั้น ณ ปัจจุบัน ถือเป็นวิธีรักษาหลักที่ให้ผลดีที่สุด มีโอกาสเปิดหลอดเลือดหัวใจได้สำเร็จมากกว่าร้อยละ 90 ในขณะที่การให้ยาสลายลิ่มเลือดนั้นโอกาสที่ยาจะเปิดหลอดเลือดหัวใจได้เพียงร้อยละ 60-70

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

4. ภาวะนี้มีความเร่งด่วนในการรักษาแค่ไหน ?
ลักษณะการตีบตันของหลอดหัวใจนั้นจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ 1. ตีบแบบสมบูรณ์ ( STEMI) และ 2. ตีบแบบไม่สมบูรณ์ (NSTEMI) ถ้าเป็นการตีบชนิดสมบูรณ์หรือตันไปเลยนั้น กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดแบบรุนแรง ดังนั้นควรเปิดหลอดเลือดให้ได้ภายในสองชั่วโมงนับแต่วินิจฉัยได้ หรือเร็วที่สุดนับตั้งแต่มีอาการ ส่วนถ้าเป็นการตีบชนิดไม่สมบูรณ์ ซึ่งการตีบลักษณะนี้หลอดเลือดจะยังพอมีทางให้เลือดไหลผ่านได้บ้าง อย่างไรก็ตามควรทำการฉีดสีสวนหัวใจเพื่อเปิดหลอดเลือดภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่วินิจฉัย

5. การสวนหัวใจมีวิธีการทำอย่างไร ?
แพทย์จะทำการแทงเข็มขนาดประมาณเข็มน้ำเกลือเข้าสู่หลอดเลือดแดงบริเวณข้อมือ หรือขาหนีบ ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์แต่ละท่าน และร่อนสายลวดและอุปกรณ์ทุกอย่างผ่านเข็มนี้ขึ้นไปสู่หลอดเลือดหัวใจ หลังจากนั้นจะทำการฉีดสีเข้าสู่หลอดเลือดหัวใจเพื่อวินิจฉัยหาจุดตีบ และเมื่อเห็นจุดตีบ แพทย์จะพยายามเปิดเส้นเลือดด้วยสายลวดและบอลลูน เมื่อเส้นเลือดเปิดแล้วแพทย์จะต้องใส่ขดลวดหรือ stent เพื่อค้ำยันลอดเลือดบริเวณนั้นอีกครั้งเพื่อป้องกันการตีบซ้ำ

การสวนหัวใจมีวิธีการทำอย่างไร

6. มีโรงพยาบาลแห่งใดในเขตอันดามันที่มีห้องสวนหัวใจ (cardiac cath lab) บ้าง?
ในเขตจังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ศูนย์หัวใจที่มีห้องฉีดสีสวนหัวใจ มีเฉพาะที่รพ.กรุงเทพ ภูเก็ต และ รพ.วชิระ ภูเก็ต เพียงสองแห่งเท่านั้น โดย ศูนย์หัวใจ รพ.กรุงเทพภูเก็ต เป็นที่ที่มีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล