พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม “อาการปวดท้องในเด็ก” บางครั้งอาจร้ายแรงถึงชีวิต

อาการปวดท้องในเด็ก

อาการปวดท้องในเด็ก มีได้หลากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่อาจเกิดจากสาเหตุที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น ลำไส้บีบตัวแรง เพราะลำไส้อักเสบจากอาหารเป็นพิษ อาหารไม่ย่อย ลมในท้องมากไป ปวดท้องถ่ายอุจจาระ หรือท้องผูก ซึ่งอาการเหล่านี้หายเองได้หรือรักษาด้วยยา แต่อาการปวดท้องบางครั้งอาจมีสาเหตุรุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตถ้าได้รับการรักษาล่าช้า เช่น ไส้ติ่งอักเสบแตก ลำไส้กลืนกัน ลำไส้อุดตัน เป็นต้น

ลักษณะอาการ

การตรวจร่างกายร่วมกับซักประวัติเด็กที่มีอาการปวดท้องที่อาจเกิดจากโรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

  1. อาเจียน โดยเฉพาะอาเจียนเป็นน้ำสีเขียว
  2. ท้องอืด อาจเกิดจากภาวะลำไส้อุดตัน ลำไส้ใหญ่โป่งพอง
  3. ปวดท้องเป็นพัก ๆ ร่วมกับถ่ายเป็นเลือดในเด็ก 2 ขวบปีแรก
  4. ปวดท้องกดเจ็บเฉพาะที่ บอกถึงอวัยวะในช่องท้องอักเสบ
  5. ปวดท้องร่วมกับคลำพบก้อนในท้อง
  6. ปวดท้องร่วมกับมีอาการตาเหลือง
  7. ปวดท้องร่วมกับมีอาการซีดจากโรคเลือดที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย
  8. ปวดท้องจากการกลืนวัตถุแปลกปลอม
  9. เด็กมีประวัติผ่าตัดช่องท้องแล้วปวดท้องอาจเกิดจากจากพังผืดรัดลำไส้ทำให้ลำไส้อุดตัน
  10. มีประวัติช่องท้องถูกกระแทก

โรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception)

โรคลำไส้กลืนกันเป็นภาวะที่ลำไส้ส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวเข้าไปในลำไส้ส่วนที่อยู่ปลายกว่า พบได้บ่อยในเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 2 ปี ผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้กลืนกันจะมีอาการโดยเฉียบพลัน โดยเริ่มจากอาการปวดเกร็ง ร้องไห้งอแง กระสับกระส่าย อันเนื่องมาจากการปวดท้อง นอกจากนั้นก็มีอาการอาเจียนร่วมด้วย อาการปวดท้องจะเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ เมื่อลำไส้กลืนกันมากขึ้นก็จะเริ่มมีการขาดเลือด ทำให้ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนกับเลือด ในระยะหลังผู้ป่วยมักจะมีไข้และมีอาการซึมลง การตรวจร่างกายอาจคลำพบก้อนในช่องท้อง การวินิจฉัยโรคลำไส้กลืนกันสามารถทำได้โดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound)

การรักษาโรคลำไส้กลืนกันมี 2 วิธี

  • วิธีแรกคือการดันลำไส้ส่วนที่เคลื่อนตัวเข้าไป ให้ออกมาจากลำไส้ส่วนที่กลืนกันอยู่โดยการใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก ซึ่งอาจจะใช้วิธีการสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบรังสี Barium หรือใช้ก๊าซเป็นตัวดัน
  • วิธีการที่สองซึ่งก็คือการผ่าตัด

ลำไส้ใหญ่โป่งพอง (Hirschsprung’s disease)

ลำไส้ใหญ่โป่งพอง (Hirschsprung’s disease) คือ โรคลำไส้ใหญ่ที่ไม่มีปมประสาท ทำให้ทารกมีอาการลำไส้อุดกั้น ลำไส้แตกทะลุ หรือท้องผูกเรื้อรัง ส่วนใหญ่มักเป็นในเด็กผู้ชายและมักมีประวัติว่าในช่วงทารกแรกเกิดถ่ายขี้เทาครั้งแรกนานกว่า 24 ชั่วโมง ส่วนในเด็กโตมีอาการท้องผูกต้องสวนอุจจาระเป็นประจำ มีอาการท้องผูกสลับท้องเดิน มีอาการท้องอืดท้องโตมากกว่าเด็กปกติ ผู้ป่วยโรคนี้บางรายมีอาการชัดเจนหลังจากผ่านพ้นวัยเด็กไปแล้วเมื่อซักประวัติย้อนหลัง ส่วนมากมีความผิดปกติของการขับถ่ายมานาน ฉะนั้นหากมีอาการขับถ่ายผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค

ลำไส้ใหญ่โป่งพอง (Hirschsprung’s disease)

การรักษาในยุคสมัยก่อนจะต้องทำการผ่าตัดทางหน้าท้องก่อนเพื่อให้อุจจาระระบายทางหน้าท้อง และรอจนกว่าผู้ป่วยมีขนาดร่างกายเติบโตเพียงพอที่จะสามารถทำการผ่าตัดอีกครั้ง แต่ในปัจจุบันได้มีการประยุกต์ทำการผ่าตัดทางทวารหนัก โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดช่องท้องได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิดทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น เจ็บแผลน้อยลงแม้สาเหตุปวดท้องในเด็กที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดพบไม่บ่อยนัก ถ้าเด็กปวดท้องรุนแรงนานกว่าปกติ ปวดเฉพาะที่ กดเจ็บ นอนนิ่ง ท้องอืด มีไข้ อาเจียน โดยเฉพาะอาเจียนเป็นน้ำดี อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด หรือลูกเคยได้รับการผ่าตัดช่องท้อง ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล