ผู้หญิงวัยทอง หรือ วัยหมดประจำเดือน (Menopause)

“วัยทอง” หมายถึง วัยของผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุในช่วง 40-59 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างวัยเจริญพันธุ์และวัยผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ความสามารถในการผลิตฮอร์โมนเพศลดน้อยลงจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และมีโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้ง่าย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกระดูกพรุน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น

“สตรีวัยทอง” หรือสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือวัยหมดระดู หมายถึง สตรีในวัย 40 – 59 ปี ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงเนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน ซึ่งทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวรร่วมด้วยกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามมา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะก่อนหมดประจำเดือน (perimenopause)
    เป็นระยะเริ่มของการหมดประจำเดือนทำให้สตรีมีประจำเดือนมาผิดปกติ ร่วมกับมีอาการทางร่างกาย เช่น ร้อนวูบวาบ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์จะแปรปรวน ซึ่งระยะนี้จะเกิดประมาณ 2-3 ปี
  2. ระยะหมดประจำเดือน (menopause)
    เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่การหมดประจำเดือนมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี
  3. ระยะหลังหมดประจำเดือน (postmenopause)
    เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่หลังหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ช่องคลอดตีบแคบ กระดูกพรุน และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆได้ง่าย

 

วัยทอง หรือ วัยหมดประจำเดือน (Menopause)

 

อาการผู้หญิงวัยทอง

อาการระยะสั้น

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาติดกันหรือห่างจากกันมาก บางรายอาจมีเลือดออกผิดปกติ
  • อาการร้อนวูบวาบ จากการแปรปรวนของระดับฮอร์โมนทำให้ร่างกายควบคุมอุณหภูมิผิดปกติ โดยจะมีอาการมากในช่วง 2-3 ปี แรก หลังหมดประจำเดือน และจะค่อยๆ ลดลงใน 1-2 ปี
  • นอนไม่หลับ อันเป็นผลของอาการร้อนวูบวาบ
  • ด้านจิตใจ มักพบเกิดอาการซึมเศร้า อารมณ์หงุดหงิด มีความวิตกกังวลง่าย
  • ช่องคลอดแห้ง จากระดับเอสโตรเจนที่ลดลง ทำให้มีปัญหาในการร่วมเพศ มีอาการคัน อาการการอักเสบของช่องคลอด มดลูก และช่องคลอดหย่อน ความต้องการทางเพศลดลง
  • โอกาสมีลูกน้อยลง จากการตกไข่ที่ไม่แน่นอน และไม่สามารถมีลูกได้อย่างถาวร หลังประจำเดือนไม่มาเต็ม 1 ปี
  • ผิวหนังเหี่ยวแห้ง ขาดความยืดหยุ่น เป็นแผล และกระได้ง่าย
  • เต้านมเล็กลง หย่อน ไม่เต่งตึง

อาการระยะยาว

  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด
    หลังหมดประจำเดือน ร่างกายจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันมากขึ้น เนื่องจากจากการขาดเอสโตรเจน เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่สำคัญในการลดไขมันไม่ดี LDL
  • กระดูกพรุน
    การขาดเอสโตรเจนของวัยหมดประจำเดือนจะทำให้มีการทำลายเนื้อกระดูกมากขึ้นถึงร้อยละ 5 ต่อปี จนเกิดเป็นโรคกระดูกพรุนตามมา โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ และกระดูกสะโพก เป็นต้น
  • ปัญหาของทางเดินปัสสาวะ
    ผลจากระดับกระดูกสันหลังที่ลดลงทำให้เยื่อบุผนังท่อปัสสาวะบางลง และกระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน ทำให้มีอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ และมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • น้ำหนักขึ้นและเริ่มอ้วน
    ผลของการลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้มีผลต่อระบบการเผาผลาญอาหาร ทำให้มีการสะสมไขมันบริเวณหน้าท้องมากขึ้น

 

การรักษา

1. อาการร้อนวูบวาบ

  • สังเกตและจดจำสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบและหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่หรือการสัมผัสกับอากาศที่ร้อนมาก
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารร้อน เครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นให้เส้นเลือดขยายตัว เช่น คาเฟอีน และแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารที่มีวิตามินอี และบี คอมเพล็กซ์ รวมถึงอาหารเสริมของสารเหล่านี้
  • งดสูบบุหรี่
  • ผ่อนคลายจิตใจ และหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียดมีผลทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น

2. ช่องคลอดแห้งและปัสสาวะบ่อย

  • ใช้สารหล่อลื่น เช่น K-Y Jelly เป็นต้น
  • ใช้ครีมเอสโตรเจนทาเพื่อกระตุ้นให้เลือดมาหล่อเลี้ยงช่องคลอดมากขึ้น
  • ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยกระตุ้นสภาวะการไหลเวียนเลือดที่ดีในช่องคลอด และทำให้ช่องคลอดยืดหยุ่นมากขึ้น

3. อาการนอนไม่หลับ และอารมณ์แปรปรวน

  • ใช้ยาลดอาการซึมเศร้า เช่น ยาในกลุ่ม SSRI รวมถึงทำกิจกรรมนันทนาการเพื่อผ่อนคายความเครียด และทำให้จิตใจแจ่มใส

4. กระดูกพรุน

  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการทำงานหนัก
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดีสูง
  • การใช้ฮอร์โมนเสริม แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งมากขึ้น

5. ผมร่วง

  • รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อยับยั้งการสร้างไดไฮโดรเทสโทสเตอโรนที่เป็นสาเหตุทำให้รากผมอ่อนแอ
  • สระผมอย่างสม่ำเสมอเพื่อกำจัด และป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุการทำลายรากผม และหนังศีรษะ รวมถึงใช้ยาสระผมที่มีสารกระตุ้นการงอกใหม่หรือสารที่ช่วยบำรุงเส้นผม

 

ฮอร์โมนทดแทนในวัยทอง

ผู้หญิงในช่วงวัยทองจะมีการลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก ทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา ปัจจุบันผู้หญิงบางกลุ่มจึงหันมาใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อลดปัญหาจาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และทางด้านอารมณ์ดังกล่าว รวมถึงช่วยป้องกันโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน โรคมะเร็ง เป็นต้น

ฮอร์โมนทดแทนที่มีการใช้ในวัยทอง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ร่างกายขาดไปนั่นเอง นอกจากนั้น ยังใช้สารอื่นที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือ โปรเจสเตอโรน

 

รูปแบบการใช้ฮอร์โมน

  • โดยการกินยา ทำให้ระดับไขมันที่ดีสูงขึ้น แต่จะทำให้ฮอร์โมนในเลือดไม่คงที่จากตับถูกทำลาย
  • โดยการฉีด ยาจะไม่ผ่านตับ และระดับไขมันที่ดีจะไม่เพิ่มเหมือนชนิดกิน
  • การใช้แผ่นปิด (estrogen-filled patch)โดยใช้ปิดที่แขนหรือก้น สามารถใช้ได้หลายวัน
  • การฝังฮอร์โมน วิธีนี้จะทำให้ฮอร์โมนในเลือดสูงเกินมากกว่าปกติ 2-3 เท่า
  • ครีมฮอร์โมนทาที่ผิวหนัง
  • ครีมฮอร์โมนทาที่ช่องคลอด ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่มีอาการช่องคลอดแห้ง

 

ประโยชน์ฮอร์โมนทดแทน

  • ป้องกันโรคกระดูกพรุน
  • ป้องกันโรคหัวใจ
  • ลดอาการวัยทอง
  • ลดอาการร้อนวูบวาบ
  • ลดอาการช่องคลอดแห้ง และคัน ทำให้ช่องคลอดเต่งตึง ไม่แห้ง
  • ลดอาการปัสสาวะเล็ด
  • ใช้รักษาอาการร้อนวูบวาบ
  • ใช้ลดอารมณ์แปรปรวน และนอนไม่หลับ
  • ใช้ป้องกันโรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม มะเร็งลำไส้ และลดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

 

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยง

  • ผู้ที่มีประวัติมะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก
  • ผู้ที่เป็นโรคตับ
  • ผู้ที่เกิดลิ่มเลือดที่เท้า
  • ผู้ที่มีประจำเดือนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

 

อาการข้างเคียง

  • คัดเต้านม
  • ท้องอืด ท้องบวมจากภาวะตับถูกทำลาย
  • มีประจำเดือน

 

ผลเสียการใช้ฮอร์โมน

  • เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกันนาน 10-15 ปี ซึ่งการใช้ฮอร์โมนทดแทนไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5 ปี
  • มีโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดี โดยเฉพาะการใช้แบบรับประทาน หากต้องการป้องกันโรคดังกล่าวควรใช้แบบชนิดปิดหรือชนิดทา

 

ข้อแนะนำการใช้

  • สำหรับฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดทา ให้ทาวันละ 1 กรัม/ครั้ง
  • ใช้ทาบริเวณหน้าขา หรือแขน และสามารถทาโลชั่นอื่นได้ตามปกติ
  • หลีกเลี่ยงการทาบริเวณหน้าอก หน้าท้อง และอวัยวะเพศ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวใกล้อวัยวะภายใน ตัวยาอาจซึมเข้าสู่อวัยวะภายในผ่านต่อมน้ำนมได้

หมายเหตุ: ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของเรา ได้ที่:

สวัสดี!

ติดต่อกับเราได้อย่างง่ายดายกว่าที่เคย

ติดตามข่าวสาร

จากโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล