Hypertension

ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม (Hypertension)

 

ความดันโลหิต คือ อะไร

ความดันโลหิต คือ ค่าความดันภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจ ส่งผ่านหลอดเลือดเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีสองค่าคือ คือค่าความดันตัวบน เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัว และค่าความดันตัวล่าง เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจคลายตัว

 

โรคความดันโลหิตสูง สำคัญอย่างไร

โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งมักจะไม่มีอาการใดๆ จึงเป็นภัยเงียบที่กว่าจะรู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูง ก็เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นแล้ว โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจหนา ภาวะหัวใจวาย ภาวะไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดสมองตีบหรือแตกเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น การที่เรารู้ตัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่ระยะแรกๆ สามารถควบคุมความดันโลหิตที่สูงให้กลับมาสู่ระดับปกติได้ ก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

 

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

มากกว่าร้อยละ 90 ไม่มีสาเหตุ มีเพียงส่วนน้อยที่มีสาเหตุ เช่น โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด โรคไต โรคของหลอดเลือดบางประเภท ที่ทำให้ความดันโลหิตสูงได้ ปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีความดันโลหิตสูง มีหลายปัจจัย เช่น อายุ เพศ พันธุกรรม เชื้อชาติ ภาวะนํ้าหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน และการรับประทานอาหารเค็มจัด เป็นต้น

 

ความดันโลหิตเท่าไหร่ดี

ปัจจุบัน ค่าความดันโลหิตที่ยอมรับได้ในผู้ที่อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ควรตํ่ากว่า 150/90 มิลลิเมตรปรอท ถ้าอายุน้อยกว่า 60 ปี หรือเป็นเบาหวาน หรือมีภาวะไตเสื่อม ค่าความดันโลหิต ควรตํ่ากว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท

 

แนวทางการรักษาความดันโลหิตสูง

จากการการศึกษาที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่าการให้ยาลดความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันโลหิตสูงได้ นอกจากการรับประทานยาแล้ว ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทุกรายควรจะได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการรักษาความดันโลหิตสูงโดยไม่ต้องใช้ยาร่วมด้วย ดังนี้

  1. ออกกำลังกายแบบแอโรบิก หมายถึงการออกกำลังกาย ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา เช่น วิ่ง เดินเร็ว ว่ายนํ้า อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย วันละ 15-30 นาที 3-6 วันต่อสัปดาห์ และการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  2. ลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
  3. งดบุหรี่
  4. ลดเครียด
  5. รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ โดยการลดอาหารเค็มจัด ลดอาหารมัน เพิ่มผักผลไม้ เน้นอาหารพวกธัญพืช ปลา นมไขมันต่ำ ถั่ว รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ หลีกเลี่ยงเนื้อแดง น้ำตาล เครื่องดื่มที่มีรสหวานจะทำให้ระดับความดันโลหิตลดลงได้
  6. ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่เพราะมียาบางตัวทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ปรึกษาแพทย์ถ้าต้องใช้ยาคุมกำเนิด

 


หมายเหตุ: ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของเรา ได้ที่:

Hi there!

Getting in touch with us has never been easier.

Subscribe Newsletter

From Bangkok Hospital Phuket

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล