Depression

โรคซึมเศร้า เป็นโรคหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตของคนเรา เหมือนกับโรคทางกายอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นนั้นจะเป็นคนอ่อนแอ ล้มเหลว หรือไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพียงการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง เกิดได้ทั้งมีสาเหตุ เช่น การสูญเสีย การหย่าร้าง ความผิดหวัง และเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุใดๆ ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน

 

 

โรคซึมเศร้าคืออะไร

โรคซึมเศร้าคือความผิดปกติของการหลั่งสารเคมีในสมองส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ ทำให้พฤติกรรมของผู้ป่วยเปลี่ยนไปจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กลายเป็นคนมองโลกในแง่ลบ เศร้า หม่นหมอง หดหู่ เก็บเนื้อเก็บตัว รู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งที่เคยสนุกหรือสบายใจไม่มีความสุข ซึ่งคนไทยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน แต่ได้รับการรักษาแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น

 

อาการของคนเป็นโรคซึมเศร้า

อาการของโรคซึมเศร้ามีอาการดังต่อไปนี้ หรือมากกว่านี้

  1. เบื่อไม่อยากทำอะไร
  2. มีอารมณ์ซึมเศร้าท้อแท้ไม่มีความสุข
  3. หลับยากหรือหลับมากเกินไป
  4. เหนื่อยง่ายไม่ค่อยมีแรง
  5. มองโลกในแง่ลบรู้สึกตัวเองไร้ค่า
  6. ไม่มีสมาธิใจลอย
  7. เชื่องช้าหรือกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุข
  8. คิดทำร้ายตัวเองหรืออยากตาย

ต้องมีอาการข้อ 1 หรือ 2 ข้อใดข้อหนึ่ง ร่วมกับอาการในข้อ 3-9 อย่างน้อย 5 อาการ ติดต่อกันนาน 2สัปดาห์ซึ่งต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา เกือบทุกวันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งหากมีอาการซึมเศร้าในระดับรุนแรงอาจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า

 

สาเหตุของการเกิดอาการโรคซึมเศร้า

ยังไม่มีสาเหตุแน่ชัด แต่โรคซึมเศร้าสามารถเป็นได้ทุกวัย ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ซึ่งอาจจะเกิดจาก

  1. กรรมพันธุ์ ผู้ป่วยที่มีญาติใกล้ชิดป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า แต่บางครั้งก็เป็นขึ้นมาเป็นได้เหมือนกัน
  2. สารเคมีในสมอง ความผิดปกติของการหลั่งสารเคมีในสมอง
  3. ลักษณะนิสัย เช่น ความเครียด การมองตัวเองในแง่ลบ ความรู้สึกในทางลบหรือไม่สามารถจัดการความเครียดของตัวเองได้ หรืออาจจะเกิดจากการที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ สภาพแวดล้อมภายนอกที่หรือสถานการณ์ที่จะนำไปสู่ความรู้สึกติดลบ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาจจะนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

 

เรากำลังตกอยู่ในอารมณ์เศร้า VS โรคซึมเศร้ากันแน่

ความเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์มนุษย์และสามารถรู้สึกได้อย่างอิสระในเวลาที่เหมาะสม สามารถหายไปได้ตามระยะเวลา แต่ถ้ามีอารมณ์เศร้า หรือความเศร้านานเกินไปและไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาจจะนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

ความเศร้า
โรคซึมเศร้า
สามารถทำกิจกรรมที่ชอบได้ปกติ เช่นดูหนังที่ชอบ หลังจากนั้นอาจจะกลับมาเศร้า ขาดความสนใจและไม่มีความรู้สึก ว่าอยากจะทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ
ยังสามารถกินอิ่ม นอนหลับ และออกกำลังกายเท่าที่ต้องการได้ ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิต กินมากเกินไปหรือน้อยเกินไป หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับเยอะเกินไป
มีอารมณ์เศร้า หดหู่ แต่เป็นบางช่วงที่เกิดขึ้น หายได้ตามระยะเวลา จมอยู่กับความเศร้าคิดซ้ำไปซ้ำมา ไม่สามารถดึงตัวเองให้กลับมาเป็นปกติได้ เป็นติดๆ กันเกิน 2 สัปดาห์

 

วิธีรักษาอาการโรคซึมเศร้า

วิธีการรักษาอาการของโรคซึมเศร้า มี 3 วิธี ได้แก่ การรักษาด้วยยาเพื่อปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล การรักษาทางจิตใจ พูดคุยกับจิตแพทย์ จะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจในตัวเอง และการรักษาด้วยไฟฟ้าซึ่งวิธีนี้จะใช้รักษาในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการระดับรุนแรง วิธีรักษาทั้ง 3 วิธี ในบางรายอาจต้องใช้วิธีการรักษาร่วมกัน

 

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

  1. การออกกำลังกาย จะทำให้จิตใจคลายความเศร้าและแจ่มใสขึ้น
  2. ไม่คาดหวังหรือตั้งเป้าหมายเยอะเกินไป
  3. ทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกดี ๆ เช่นไปเที่ยว
  4. พยายามทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ให้มากกว่าการอยู่คนเดียว
  5. อย่าตัดสินเรื่องสำคัญต่อชีวิต เช่นการหย่า หรือการออกจากงาน ณ ตอนนั้น ควรปรึกษาคนรอบข้างให้ช่วยคิด

 

คำแนะนำสำหรับญาติหรือคนรอบข้าง

  1. รับฟังด้วยความเข้าใจโดยไม่ตัดสินจะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นเพราะมีคนเข้าใจจริงๆ
  2. ชวนคุยโดยไม่กดดันไม่คาดหวังว่าผู้ป่วยจะพูดเยอะหรือพูดน้อย เพราะการคาดหวังมากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ที่ทำให้ผิดหวัง
  3. เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความคิดความรู้สึกไม่ดีออกมา การที่ผู้ป่วยได้ระบายทำให้ช่วยผ่อนคลายความเครียดลงได้อย่างมาก
  4. ช่วยตักเตือนในการให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ หรือสังเกตอาการของผู้ป่วยรวมถึงการพาผู้ป่วยมาพบแพทย์
  5. ชวนผู้ป่วยทำกิจกรรมและเปลี่ยนบรรยากาศในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและได้เจออะไรใหม่ ๆ

 

เคล็ดลับการบำบัดโรคซึมเศร้า

แสงแดดช่วยโรคซึมเศร้า
การได้รับแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้า ประมาณ 30-60 นาที จะช่วยรักษาอาการเหล่านี้ได้ เพราะแสงแดดอ่อน ๆ จะช่วยลดฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างขึ้นเพื่อควบคุมการนอนหลับ โดยเมลาโทนินนั้นจะถูกกระตุ้นด้วยความมืดและยับยั้งด้วยแสงสว่าง ดังนั้นการได้รับแสงแดดยามเช้าจะช่วยให้ผู้ป่วยสดชื่น แจ่มใส

เลี้ยงสัตว์ ช่วยบำบัดโรคซึมเศร้า
สัตว์เลี้ยงจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น ลดความตึงเครียดและเพิ่มอารมณ์ที่เป็นอยู่ของผู้ป่วยให้เปลี่ยนไป และการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงเช่นสุนัขหรือแมวจะช่วยให้ฮอร์โมนความเครียดลดลง เพิ่มระดับสารเคมีในสมองมากขึ้นอีกด้วย
(ที่มา: https://www.thairath.co.th/content/942478)

เล่นกีฬาช่วยบำบัดโรคซึมเศร้า
การออกกำลังกาย ทำให้การหลั่งสารสื่อประสาทต่างๆ ฮอร์โมน เอ็นโดรฟิน โดปามีน และอื่นๆ ทำงานได้ดีขึ้น แต่ควรเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดความเครียด
(ที่มา :http://www.fitjunctions.com/depression/)

 

สถิติผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

  • สำหรับประเทศไทย คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมง ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน และ โรคซึมเศร้า
  • องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า ประชากรมากกว่า 300 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า
  • ประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้า1.5 ล้านคนแต่ได้เข้ารับการรักษาเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น

อ้างอิงข้อมูลสถิติ : http://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=26711

 


หมายเหตุ: ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของเรา ได้ที่:

Hi there!

Getting in touch with us has never been easier.

Subscribe Newsletter

From Bangkok Hospital Phuket

กรุณากรอกอีเมลคุณเพื่อรับข่าวสารจากโรงพยาบาล